รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทยและรัฐมนตรีสาธารณสุขศรีลังกา สานมือร่วมต่อสู้บริษัทบุหรี่ข้ามชาติ เชื่อมั่นจะชนะ เผยมาตรการควบคุมยาสูบของไทยเดินมาถูกทางตามนโยบายขององค์การอนามัยโลก ชี้การเพิ่มภาพขนาดคำเตือนพิษภัยบนซองบุหรี่เป็นร้อยละ 85 เป็นการรักษาชีวิตปกป้องการมีสุขภาพดีของประชาชน  ระบุการถูกบริษัทบุหรี่ข้ามชาติฟ้องศาลปกครอง ถือเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ของรัฐมนตรีสาธารณสุข

          วันนี้  (3 กันยายน 2556) นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้แทนไทย เดินทางไปประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา เพื่อร่วมพิธีรับมอบรางวัลพิเศษบุหรี่แห่งโลกจากองค์การอนามัยโลก ในฐานะเป็นผู้นำทางนโยบายในการควบคุมยาสูบ เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลกประจำปี 2556 ซึ่งทั่วโลกมีผู้ได้รับรางวัลนี้ 2 คน คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทยและนายแพทย์ไมตรีพาลา สิริเสนา (H.E. Maithripala Sirisena) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประเทศศรีลังกา โดยเข้ารับรางวัลดังกล่าวจาก ฯพณฯ มหินดา ราชปักษา (H.E.Mahinda Rajapaksa) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ซึ่งจัดขึ้นที่หอประชุมนานาชาติบันนารานายะเก (Bandaranayake Memorial International Conference : BMIC)  กรุงโคลัมโบ ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา

          นายแพทย์ประดิษฐได้กล่าวปาฐกาพิเศษเกี่ยวกับนโยบายการควบคุมยาสูบของประเทศไทยว่า  ปัญหาการสูบบุหรี่เป็นภัยคุกคามสุขภาพประชาชนที่ใหญ่ที่สุดของทั้งศรีลังกาและประเทศไทย เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่ป้องกันได้ โดยทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 6 ล้านคน มากกว่าการเสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวี โรคเอดส์  โรคมาลาเรียและวัณโรครวมกัน บุหรี่จัดเป็นสินค้าที่ทำลายสุขภาพผู้บริโภค โดยครึ่งหนึ่งของผู้สูบจะเสียชีวิตจากโรคที่สัมพันธ์กับบุหรี่ เช่น มะเร็งปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันนักสูบยังขาดความรู้ในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพที่จะตามมาหรืออาจมีความเชื่อผิดๆ เช่น สูบบุหรี่แล้วทำให้สมองปลอดโปร่ง แจ่มใส ไม่ง่วงนอน เป็นต้น ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตยาสูบทุ่มงบอย่างหนัก เพื่อสร้างภาพบุหรี่จากสินค้าแห่งความตาย มาเป็นภาพของสินค้าที่ดูเหมือนว่าปลอดภัยและดูดี  สถิติการสูบบุหรี่ของประเทศไทยล่าสุด ผู้ชายสูบร้อยละ 45.6 ผู้หญิงสูบร้อยละ 2.5  ส่วนศรีลังกา ผู้ชายสูบบุหรี่ร้อยละ 29.9 ผู้หญิงสูบร้อยละ 1          

          นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีนโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบมาโดยตลอด สอดคล้องกับกฎหมายบุหรี่ขององค์การอนามัยโลก ล่าสุดได้ออกกฎหมายเพิ่มขนาดภาพคำเตือนพิษภัยของบุหรี่บนซองบุหรี่ให้ใหญ่ขึ้นถึงร้อยละ 85 ของพื้นที่ซอง ทำให้ภาพสะดุดตาขึ้น เนื่องจากมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าภาพคำเตือนที่ใหญ่ขึ้นมีผลป้องกันเยาวชนนักสูบหน้าใหม่ และทำให้ผู้ที่สูบแล้วสูบน้อยลงหรือเลิกสูบในที่สุด โดยขณะนี้ที่ประเทศศรีลังกาได้กำหนดกฎหมายให้พิมพ์ภาพคำเตือนบุหรี่บนซองขนาดร้อยละ 80 ของพื้นที่ซอง มั่นว่าการดำเนินงานของภาครัฐ ทั้งไทยและศรีลังกาทำถูกต้องแล้ว เนื่องจากเป็นการพิทักษ์ปกป้องชีวิตของประชาชน 

        “การถูกบริษัทบุหรี่ข้ามชาติยักษ์ใหญ่ 3 บริษัทฟ้อง คือ ฟิลิปมอร์ริส  บริษัทยาสูบญี่ปุ่น  และบริษัทยาสูบบริติช อเมริกัน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองทั้ง 2 ประเทศ เนื่องจากเห็นว่าการออกกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุขไม่ถูกต้อง ฝ่าฝืนลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขไทยและเครือข่ายไม่สูบบุหรี่ ได้เตรียมพร้อมต่อสู้ทางกฎหมายอย่างเต็มที่กับบริษัทบุหรี่แล้ว การที่รัฐมนตรีสาธารณสุขถูกบริษัทบุหรี่ฟ้องถือว่าเป็นการให้รางวัลที่ยิ่งใหญ่จากบริษัทบุหรี่ มีรัฐมนตรีน้อยคนที่จะได้ และเชื่อมั่นว่าจะชนะคดีในชั้นศาลในเร็วๆ นี้” นายแพทย์ประดิษฐกล่าว                          

 **************    3 กันยายน 2556 



   
   


View 17    03/09/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ