“สมศักดิ์” ประชุมผู้บริหาร สธ.นัดแรกปี 68 จัดเต็มของขวัญวันเด็ก-วันผู้สูงอายุ เพิ่มเข้าถึงการรักษาขั้นสูง ปลื้มมีคนนับคาร์บแล้ว 11.8 ล้านคน เดินหน้าให้ได้ 50 ล้านคน ภายในปี 2568
- สำนักสารนิเทศ
- 334 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมคนใหม่ เน้นสร้างความมั่นคงยา วัคซีนในประเทศ ช่วยประหยัดควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยา แก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงยาของประชาชน และให้องค์การเภสัชกรรมลดต้นทุนการผลิตยาให้ต่ำกว่าภาคเอกชน
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.)คนใหม่ว่า ได้มอบนโยบายให้ยึดภารกิจขององค์การเภสัชกรรมเป็นหลัก ที่มีหน้าที่ 1.การสร้างความมั่นคงด้านยาและวัคซีนของประเทศ เป็นผู้ผลิตซึ่งมีการใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมว่าจะผลิตเองหรือจัดซื้อมา ไม่จำเป็นต้องผลิตทุกตัว และเก็บสต็อคเหมาะสม 2. ช่วยประหยัด ควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาของกระทรวงสาธารณสุข เช่นการตั้งคลังยาในภูมิภาค หากทำได้จะเป็นการสำรองยาช่วยโรงพยาบาล ช่วยสภาพคล่องด้านการเงิน ไม่ต้องเอาเงินไปซื้อยาสำรองไว้ที่โรงพยาบาลมากๆ และสร้างความมั่นคงของระบบยาในประเทศ และบริหารจัดการยาในภาวะวิกฤตได้ เช่น กรณีน้ำท่วม สามารถดึงยาจากคลังในภูมิภาคที่น้ำไม่ท่วมมาใช้ได้
3.เป็นผู้นำในการแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงยาของประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมาตลาดยาในประเทศไทย ผู้ผลิตในประเทศกลัวเรื่องสิทธิบัตร ไม่กล้าผลิตยาใหม่ๆที่น่าจะหมดสิทธิบัตรแล้ว ซึ่งได้ดำเนินการในเชิงระบบแล้วโดยทำงานร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา หากยาตัวใดหมดสิทธิบัตร ให้แจ้งทางกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจะได้ผลิตใช้ในประเทศได้ เพื่อลดการซื้อยาที่ผลิตภายใต้เครื่องหมายการค้าหรือยาเจเนอริค (generic)ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีนโยบายให้องค์การเภสัชผลิตนำร่องไปก่อน เพื่อให้บริษัทมั่นใจว่าผลิตได้และไม่ถูกฟ้อง หลังจากนั้นก็จะให้บริษัทเอกชนผลิตแทนช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยาพวกนี้ได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามองค์การเภสัชกรรมต้องเฝ้าระวังกำกับไม่ให้ยามีราคาสูงเกินไป และให้องค์การเภสัชกรรมเน้นคุณภาพในการผลิตและนำเข้ายา โดยการผลิตเองหรือจัดหายามาจากแหล่งอื่นเพื่อมายันราคาในประเทศไม่ให้สูงเกินไป ขณะเดียวกันองค์การเภสัชกรรมต้องปรับปรุงประสิทธิภาพขององค์การเภสัชกรรมด้วย เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่าต้นทุนการผลิตขององค์การฯสูงกว่าภาคเอกชน ซึ่งต้องหากลวิธีในการบริหารจัดการเพื่อให้ต้นทุนลดลง ซึ่งมี 2 วิธี คือการซื้อต่อจากเอกชนมาขายโดยการต่อรองราคาให้ดีที่สุด หรือปรับปรุงประสิทธิภาพให้ได้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำสามารถสู้กับภาคเอกชนได้
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องปัญหาที่คั่งค้างต่างๆที่ต้องดำเนินการแก้ไขและตัดสินใจ เช่น โรงงานวัคซีนที่ต้องมีการทำข้อเสนอให้รัฐบาลตัดสินใจ ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งการเปลี่ยนสเปค การขอวงเงินเพิ่ม รวมทั้งการบริหารจัดการหลังสร้างเสร็จ เรื่องความคุ้มทุนในการผลิต เรื่องยาต้านไวรัสเอดส์ ปัญหายาโคลพิโดเกรลขาดตลาด รวมทั้งสต็อคยาโอเซลทามิเวียร์ ให้นโยบายว่าต้องทำให้จบโดยเร็วที่สุด
******************************************* 2 กันยายน 2556