สาธารณสุข เปิดแผนรณรงค์ตรวจสุขภาพประชาชนเคลื่อนที่ ที่ จ.อุบลราชธานี ฟรีทั้งจังหวัดลุยถึงหมู่บ้าน เป็นแห่งแรกของประเทศ เพื่อค้นหาโรคที่หลบซ่อนในตัวแต่ยังไม่รู้ตัว เฟ้นอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง เพื่อให้การรักษาแต่เนิ่นๆ ที่ผ่านมาพบชาวอุบลฯ ร้อยละ 98 เมินตรวจสุขภาพประจำปี ชี้ผลการตรวจเบื้องต้นในปี 2548 พบอ้วนร้อยละ 19 พบไข่พยาธิตัวตืดร้อยละ 42 ผู้ผ่านการตรวจทุกคนจะได้พาสปอร์ตสุขภาพ สามารถใช้ต่อที่โรงพยาบาลได้ วันนี้ (6 มิถุนายน 2550) ที่ศูนย์สุขภาพชุมชนห้วยขะยุง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุวัจน์ เฑียรทอง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สมยศ ดีรัศมี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนรถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ 25 คัน พร้อมอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ในการตรวจสุขภาพประชาชน เช่น เครื่องชั่งน้ำหนัก แถบวัดรอบเอว ชุดตรวจไขมันในเลือดและเบาหวาน กล้องจุลทรรศน์ตรวจปัสสาวะ ตรวจหาไข่พยาธิในอุจจาระ พร้อมเจ้าหน้าที่ ในโครงการรณรงค์ตรวจสุขภาพประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปทุกหมู่บ้าน รวมทั้งหมด 1 ล้าน 3 แสนกว่าคน นายแพทย์วัลลภ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพของคนไทย พบว่าขณะนี้กำลังเผชิญกับโรคไม่ติดต่อสูง ทำให้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ 1 แซงโรคติดต่อเช่นเอดส์แล้ว ที่พบ 3 อันดับแรกในปี 2549 ได้แก่ โรคมะเร็ง พบมากถึงปีละกว่า 52,000 ราย รองลงมาได้แก่ อุบัติเหตุ 37,433 ราย และความดันโลหิตสูงปีละ 15,284 ราย ซึ่งโรคดังกล่าวล้วนมาจากการดำเนินชีวิตประจำวัน การก่อโรคจะค่อยเป็นค่อยไป ไม่รู้ตัวมาก่อน จะแสดงอาการก็ต่อเมื่อโรคกำเริบแล้ว ทำให้การรักษามีความยุ่งยากซับซ้อนและเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก บางโรครักษาไม่หายขาด เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง มีเพียงยาควบคุมอาการตลอดชีวิตเท่านั้น จึงมีนโยบายให้ทุกจังหวัดเน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยเน้นให้ประชาชนทั่วไปที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ตรวจร่างกายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งจะสามารถค้นหาโรคที่เป็นอันตรายในระยะแรกเริ่มได้ เช่น โรคมะเร็ง จะทำให้การรักษาได้ผลดีหรือหายขาด โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในโครงการหลักประกันสุขภาพ ได้จัดงบประมาณไว้เพื่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วย นายแพทย์วัลลภ กล่าวต่อว่า นอกจากตรวจสุขภาพแล้ว จะต้องคัดกรองพฤติกรรมเสี่ยงควบคู่ไปด้วย ที่สำคัญและเป็นปัญหาระดับโลกก็คือ เหล้า บุหรี่ อาหารที่มีไขมันสูง เป็นสาเหตุบั่นทอนให้สุขภาพเสีย อวัยวะถูกทำลายแบบตายผ่อนส่ง จะต้องรณรงค์ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควบคู่กันไป ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดแรกที่ดำเนินการตรวจสุขภาพทั้งจังหวัด และเป็นจังหวัดตัวอย่างที่จะขยายผลทั่วประเทศต่อไป มั่นใจว่าการตรวจพบก่อนป่วยนี้ จะทำให้ประชาชนตื่นตัวดูแลสุขภาพ ไม่ปล่อยให้โรคกำเริบรุนแรง เกิดโรคแทรกซ้อน จนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งจากข้อมูลการตรวจสุขภาพประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ล่าสุดในปี 2547 พบประชาชนเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากถึง 10 ล้านกว่าคน แต่ในจำนวนนี้รู้ตัวว่าเป็นเพียง 3 ล้านคนเท่านั้น ทางด้านนายแพทย์วุฒิไกร มุ่งหมาย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จากรายงานการเสียชีวิตของประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ในปี 2549 โรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิต 3 อันดับแรก ได้แก่ โรคมะเร็ง ที่พบมากที่สุดคือ มะเร็งตับและท่อน้ำดีอักเสบ พบร้อยละ 40 ของมะเร็งทั้งหมด รองลงมาคือ โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไต โรคดังกล่าวเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ทั้งสิ้น หากประชาชนมีพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ดี โดยเฉพาะการตรวจสุขภาพประจำปี แต่ที่ผ่านมาพบว่า แต่ละปีมีประชาชนให้ความสนใจไปตรวจสุขภาพประจำปีในสถานบริการสาธารณสุขน้อยมาก เพียงร้อยละ 1-2 เท่านั้น จะไปสถานพยาบาลก็ต่อเมื่อป่วยเท่านั้น ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จังหวัดได้ปรับเปลี่ยนมาตรการเชิงรุก เพื่อลดการป่วยและเสียชีวิตจากโรคต่างๆ ลงให้มากที่สุด เริ่มในกลุ่มประชาชนอายุมากกว่า 15 ปีตามชุดสิทธิประโยชน์หลัก ตั้งแต่ปี 2548 ดำเนินการได้ร้อยละ 40 ในปี 2549 ตรวจได้ร้อยละ 69 จึงขยายการตรวจให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ โดยใช้รถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ที่ดัดแปลงมาจากรถกระบะประจำสถานีอนามัย เพิ่มอุปกรณ์ในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจระดับความเข้มข้นของเลือด ตรวจระดับโคเลสเตอรอล เครื่องวัดความดันโลหิต อุปกรณ์ตรวจฟัน ตรวจตา ผิวหนัง มะเร็งเต้านม ตรวจดัชนีมวลกาย โดยมีอาสาสมัครที่ผ่านการอบรมเป็นเจ้าหน้าที่ประจำรถ และมีแพทย์และพยาบาลเป็นผู้อ่านผลและตรวจสุขภาพให้ประชาชน ผู้ที่ได้รับการตรวจสุขภาพ จะได้รับสมุดบันทึกสุขภาพประจำตัวในการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง คล้ายพาสปอร์ต นำไปตรวจทั้งที่ศูนย์สุขภาพชุมชนหรือโรงพยาบาลได้ ในเบื้องต้นพบคนอ้วนร้อยละ 19 ความดันโลหิตสูงร้อยละ 8 พบไข่พยาธิร้อยละ 10 มากที่สุดคือไข่พยาธิตัวตืดหมูตืดวัว ร้อยละ 42 แสดงว่าประชาชนยังกินเนื้อสุกๆ ดิบๆ อยู่ ทั้งนี้ ในการตรวจสุขภาพตามกลุ่มอายุ เช่น ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป จะตรวจมะเร็งเต้านม ส่วนผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป จะตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแป๊บสเมียร์ ส่วนการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดจะตรวจในกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไปทั้งชายและหญิง โดยประชาชนทุกคนจะได้รับการประเมินพฤติกรรมเสี่ยงเช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด การดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง การออกกำลังกาย การใช้ยาชุด ความเสี่ยงทางเพศ และพฤติกรรมการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ รสเค็ม รสหวาน เป็นต้น หากพบมีภาวะเสี่ยงจะให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นรายบุคคล พร้อมทั้งวางแผนการติดตามเยี่ยมบ้าน โดยจะส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ศูนย์สุขภาพชุมชนในเขตที่รับผิดชอบดูแลอย่างต่อเนื่อง ในรายที่จำเป็นต้องรักษาต่อโดยแพทย์เฉพาะทาง จะส่งรักษาต่อในโรงพยาบาลทันที ********************************* 6 มิถุนายน 2550


   
   


View 10    06/06/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ