กระทรวงสาธารณสุข จับมือกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จัดประชุมสุดยอดผู้ร่วมพัฒนาวัคซีนป้องกันเอดส์นานาชาติ: เพื่อคนไทยไร้เอดส์ เพื่อผลักดันการศึกษาต่อยอดโครงการทดลองประสิทธิผลของวัคซีนเอดส์ ในระยะ3 หรือโครงการอาร์วี 144 ที่ได้ผลในการป้องกันร้อยละ 31.2 เมื่อ พ.ศ. 2552 พัฒนาต่อเพื่อให้ได้วัคซีนป้องกันโรคเอดส์ตัวแรกของโลกในรอบ 30 ปี สำหรับใช้ลดผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในไทยและเทศ และลดโรคเอดส์ให้เป็นศูนย์ตามเป้าหมายของสหประชาชาติ
               วันนี้ (29 สิงหาคม พ.ศ. 2556) ที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ฯพณฯ เอกอัครราชฑูตคริสตี้ เคนนี่ย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นายวิลเลียม (บิล) สโนว์ ผู้อำนวยการโกลบอลเอชไอวีวัคซีนเอนเทอร์ไพรซ์ และนายแพทย์ลุยซ์ ลอเรส รองผู้อำนวยการบริหารของโครงการและผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติ เปิดการประชุมสุดยอดผู้ร่วมพัฒนาวัคซีนป้องกันเอดส์นานาชาติเพื่อคนไทยไร้เอดส์ (AVEC Summit:Towards AIDS free Generation in Thailand) เพื่อร่วมมือกันดำเนินการศึกษาวิจัยทดลองวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในคน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วโลก 150 คน 
              นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า ไวรัสเอชไอวีและโรคเอดส์ เป็นภัยคุกคามสุขภาพทั่วโลก  รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อเอชไอวีให้สำเร็จ แม้ว่าที่ผ่านมาไทยจะประสบผลสำเร็จในการควบคุมป้องกันด้วยการลดพฤติกรรมเสี่ยงในโครงการถุงยางอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์  สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลงจากช่วงปี 2533 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงที่สุดประมาณ 160,000 รายต่อปี เหลือประมาณ 10,000 รายต่อปี ในปัจจุบัน แต่เครื่องมือชิ้นสำคัญที่จะใช้ร่วมกับมาตรการการป้องกันการติดเชื้ออื่น ๆ เพื่อทำให้การควบคุมป้องกันได้ผลดีที่สุด คือการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคเอดส์  ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้เริ่มให้มีการศึกษาทดลองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2526 เป็นต้นมา จนถึงขณะนี้ยังไม่ประสบผลสำเร็จ
          ในการศึกษาทดลองวัคซีนดังกล่าว  ประเทศไทยนับเป็น 1 ใน 14 ประเทศทั่วโลก ที่ได้รับการคัดเลือกจากองค์การอนามัยโลก ศึกษาประเมินผลวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีเริ่มตั้งแต่พ.ศ.2536 เป็นต้นมา  มีการศึกษาวัคซีนที่เหมาะสมกับสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยซึ่งเป็นชนิดอีมากกว่า 10 โครงการ โดยที่โครงการศึกษาวัคซีนเอดส์ที่เป็นที่สนใจ และมีความเป็นไปได้ที่จะทำการศึกษาต่อยอดเพิ่มขึ้นไปอีก คือโครงการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนเอดส์ทดลองในมนุษย์ ระยะที่ 3  หรืออาร์วี 144 (RV144) ซึ่งเป็นการทดลองภาคคลินิกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่จังหวัดชลบุรีและระยอง ระหว่าง พ.ศ. 2542-2546  ศึกษาในอาสาสมัครผู้ใหญ่ที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีจำนวน 16,000 คน  ใช้วัคซีน 2 ชนิดร่วมกันแบบปูพื้น-กระตุ้น คือวัคซีนแอลแวคเอชไอวี (ปูพื้น) และวัคซีนเอดส์แวกซ์บี/อี (กระตุ้น)  ได้ผลสรุปเมื่อพ.ศ.2552 ว่าวัคซีนดังกล่าวมีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ สามารถลดโอกาสเสี่ยงการติดเชื้อเอชไอวีได้ถึงร้อยละ 31.2 โดยมีแนวโน้มให้ผลสูงสุดในระยะต้นหลังทดสอบใน 12 เดือนแรกที่ร้อยละ 60  แสดงให้เห็นว่าวัคซีนป้องกันเอดส์มีความเป็นได้และเป็นความหวังของโลก  
      หลังจากนั้นในพ.ศ.2555 นักวิจัยได้ปรับปรุงออกแบบโปรตีนที่ผิวเปลือกนอกของไวรัสในวัคซีนปูพื้น เพื่อเพิ่มระดับและสารเพิ่มประสิทธิภาพยืดระยะเวลาภูมิคุ้มกันที่พบในอาร์วี 144    และศึกษาทดสอบเพิ่มเติมในห้องปฏิบัติการ พบว่าสามารถเพิ่มภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีได้ดีขึ้น  จึงน่าจะเป็นความหวังที่จะมีวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ชนิดแรกใช้ในโลก เพื่อใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดได้
            ขณะนี้ รัฐบาลไทยได้ตั้งคณะทำงานพัฒนาวัคซีนป้องกันเอดส์หรือเรียกว่า เอแวค (AVEC: The AIDS Vaccine Efficiency Consortium ) 1 คณะ เพื่อร่วมมือกันในการศึกษาวัคซีนเอดส์ที่ช่วยลดความเสี่ยงให้คนไทยไร้โรคเอดส์  ประกอบด้วยภาครัฐและเอกชน ร่วมกันเร่งรัดการพัฒนาและการทดสอบแผนการให้วัคซีนป้องกันเอดส์ชนิดปูพื้น-กระตุ้น ในประเทศไทย  ซึ่งต้องอาศัยทรัพยากรทั้งผู้เชี่ยวชาญจากไทยและต่างประเทศ  แหล่งเงินงบประมาณ  หากผลวิจัยประสบผลสำเร็จก็สามารถพัฒนาเป็นวัคซีนป้องกันโรคเอดส์รายแรกของโลกในรอบ 30 ปีหลังโรคเอดส์แพร่ระบาด  อีกทั้งเป็นการสนับสนุนพัฒนาขีดความสามารถของไทย ในการผลิตชีววัตถุในการผลิตวัคซีนเอดส์ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงการป้องกันและรักษามากขึ้น โดยให้กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเป็นเจ้าภาพหลัก    
              สำหรับการประชุมสุดยอดผู้ร่วมพัฒนาวัคซีนป้องกันเอดส์ เพื่อคนไร้เอดส์ครั้งนี้  นอกจากจะหารือกันเกี่ยวกับเป้าหมาย "สามศูนย์" (Three Zeroes) ของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอดส์ (UNAIDS) ในการกวาดล้างเอชไอวี/เอดส์ คือไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ไม่มีผู้เสียชีวิตและไม่มีการกีดกันทางสังคมแล้ว   จะมีการนำเสนอผลการวิจัยและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์หลังวิจัยในการพัฒนาวัคซีนเอดส์ ข้อพิจารณาเกี่ยวกับประโยชน์ของวัคซีน  ความก้าวหน้าล่าสุดทางวิทยาการในการป้องกันเอชไอวี   การพัฒนาขีดความสามารถโดยความร่วมมือแบบหุ้นส่วน (Public Private Partnership) การสนับสนุนของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เพื่อการพัฒนาสารฆ่าเอชไอวี  ขีดความสามารถด้านการวิจัยและเทคโนโลยีของไทย การเข้าถึงวัคซีนหลังโครงการวิจัย ตลาดวัคซีนและชีววัตถุในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้    
             ทั้งนี้ จากรายงานของยูเอ็นเอดส์ ล่าสุดในพ.ศ.2555 ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 34.2 ล้านคน เสียชีวิต1.7 ล้านคน  โดยเพิ่มขึ้นจาก 10 ปีที่ผ่านมา ประมาณ 5 ล้านคน และมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ทั้งสิ้น 2.5 ล้านคน ส่วนประเทศไทยขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ไม่มีอาการ มากกว่า 600,000 คน  และสำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานผู้ป่วยเอดส์ที่มีอาการจากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่พ.ศ.2527 จนถึงเดือนกันยายน 2555 มียอดผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 276,947 ราย ในจำนวนนี้ มีร้อยละ 65 อยู่ในกลุ่มอายุระหว่าง 30 - 44 ปี  ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปร้อยละ 46 มีสาเหตุการติดเชื้อหลักร้อยละ 85 ผ่านทางเพศสัมพันธ์
  **************************  29 สิงหาคม 2556


   
   


View 8    29/08/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ