กระทรวงสาธารณสุขไทย เสนอกฎอนามัยระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลกฉบับใหม่ เข้าที่ประชุมครม.รับทราบ ซึ่งกฎดังกล่าวเกี่ยวข้องกับระบบการตรวจจับโรคระบาด และภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ ไม่ต่ำกว่า 10 โรค จะมีผลบังคับใช้ทั่วโลก 15 มิถุนายน 2550 เป็นต้นไป
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ ว่า ครม.ได้มติเห็นชอบเรื่องการประกาศใช้กฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 (International Health Regulation : IHR) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งกฎดังกล่าวเป็นข้อตกลงเพื่อตรวจจับการระบาดของโรคติดต่อและภัยสุขภาพ และวางมาตรการป้องกันควบคุมโรค ลดผลกระทบต่อการเดินทาง การขนส่งระหว่างประเทศ ได้ผ่านการรับรองจากสมาชิกทุกประเทศในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ในเดือนพฤษภาคม 2548 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 มิถุนายน 2550 เป็นต้นไป ซึ่งทุกประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกจะต้องปฏิบัติตาม
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า กฎอนามัยระหว่างประเทศที่ใช้ครั้งนี้ เป็นฉบับที่ 2 หลังจากที่ฉบับแรกใช้มานาน 38 ปี มีวัตถุประสงค์ให้มีการป้องกันควบคุมการแพร่กระจายโรคและภัยสุขภาพข้ามประเทศ ที่อาจมีผลกระทบต่อการเดินทางและการค้าขายระหว่างประเทศ และต้องไม่ขัดต่อสิทธิมนุษยชนและอธิปไตยของแต่ละประเทศ เพื่อไม่ให้ใช้เป็นข้อกีดกันทางการค้า การปกปิดข้อมูล การใช้มาตรการที่รุนแรงเกินความจำเป็น เช่น การกักตัว การห้ามเข้าประเทศ การเลือกปฏิบัติ และการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
ทั้งนี้ โรคติดต่อและภัยสุขภาพที่กำหนดในกฎอนามัยฉบับนี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้โรคติดต่อที่ประเทศสมาชิกต้องรายงานองค์การอนามัยโลกภายใน 24 ชั่วโมง แม้จะมีรายงานผู้ป่วยเพียงรายเดียวก็ตาม และต้องรีบควบคุมป้องกันโรคในประเทศทันที มี 4 โรค ได้แก่ 1. ฝีดาษ (Smallpox) 2.โปลิโอ (Polio) 3.ซาร์ส (Sars) และ 4.โรคไข้หวัดใหญ่ในคนที่เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (Human influenza caused by a new subtype) และกำหนดโรคที่ต้องแจ้งองค์อนามัยโลก เมื่อมีความรุนแรงหรือเกิดการระบาดที่จะกระทบต่อประเทศอื่นอีก 7 โรค ได้แก่ 1. อหิวาตกโรค (Cholera) 2.กาฬโรค (Pneumonic Plage) 3.ไข้เหลือง (Yellow Fever) 4.ไข้เลือดออกจากเชื้อไวรัสที่อาการรุนแรงอันตราย ได้แก่ ไข้เลือดออกอีโบล่า (Ebola) ไข้เลือดออกลาสสา (Lassa) ไข้เลือดออกมาร์เบิร์ก (Marburg) 5.ไข้เวส ไนล์ (West Nile Fever) รวมทั้งโรคอื่นๆ ที่น่าเป็นห่วงกังวล อาทิ ไข้เลือดออก (Dengue fever) ไข้ริฟท์ วัลเลย์ (Rift Valley) และไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal disease) รวมถึงภัยสุขภาพอื่นๆ ด้วย
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของประเทศไทย ขณะนี้มีความพร้อมและมีประสบการณ์ โดยได้มอบหมายให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เป็นแกนกลางในการประสานและปฏิบัติตามกฎหมาย ทำหน้าที่รายงานองค์การอนามัยโลกหากพบโรคดังกล่าวในประเทศ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะประชุมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงยุติธรรม เพื่อประสานความร่วมมือในการดำเนินการตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ และจัดทำแผนดำเนินงาน 5 ปีต่อไป
********************************* 5 มิถุนายน 2550
View 15
05/06/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ