รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดสัมมนาบุคลากรการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขภาครัฐและเอกชน ใน 4 จังหวัดจังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา ได้แก่ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และผู้แทนด้านสาธารณสุขจากกัมพูชาจากจังหวัดพนมเปญ เสียมเรียบ อุดรมีชัย และพระตะบอง เพื่อพัฒนาความพร้อมสถานบริการสุขภาพและผู้ประกอบวิชาชีพตามแนวตะเข็บชายแดน เข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยกำหนดให้โรงพยาบาลทุกระดับต้องผ่าน 4เกณฑ์มาตรฐานที่จำเป็น ได้แก่ ความปลอดภัย  ประสิทธิภาพ มาตรฐานเครื่องมือแพทย์ มีระบบการให้ความรู้ประชาชนป้องกันการเจ็บป่วย  และมาตรฐานด้านการรักษาพยาบาล ขณะนี้ไทยผ่านเกณฑ์แล้ว 152 แห่ง

วันนี้ (23 สิงหาคม 2556) ที่โรงพยาบาลสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข   พร้อมด้วยนายแพทย์ณรงค์   สหเมธาพัฒน์  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ  เปิดสัมมนาผู้บริหาร บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสถานบริการสุขภาพภาครัฐและเอกชน ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีษะเกษ อุบลราชธานี  และผู้แทนด้านสาธารณสุขจากประเทศกัมพูชา ซึ่งนำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดพนมเปญ เสียมเรียบ อุดรมีชัย และพระตะบอง รวม 30 คน รวมทั้งสิ้น 400 คน  เพื่อชี้แจงนโยบายและเตรียมความพร้อมสถานบริการสุขภาพเข้าสู่ประชาคมอาเซียนใน พ.ศ.2558 หลังจากนั้นเยี่ยมชมความพร้อมโรงพยาบาลสุรินทร์ด้วย
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า การเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีขางหน้า   เป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญ  โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย สร้างความพร้อมของไทยเข้าสู่เวทีอาเซียน เวทีโลก ภายใต้วิสัยทัศน์ ประเทศไทยเป็นสมาชิกที่เข้มแข็ง และสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอาเซียน 10 ประเทศ ซึ่งมีกว่า 500 ล้านคนร่วมกัน ให้คนไทยอยู่ดี กินดี มีความเสมอภาคและเป็นธรรม   ผลของการเป็นสมาคมอาเซียน ทำให้อาเซียนเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตร่วม มีการเคลื่อนย้ายสินค้าบริการ การลงทุนและแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี  ซึ่งในด้านสุขภาพจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบ ทั้งด้านบริการการแพทย์ การควบคุมมาตรฐานบริการสุขภาพ สินค้าสุขภาพต่างๆ การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานกำลังคน โดยเฉพาะเรื่องภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ จุดที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก่อนพื้นที่อื่นๆ คือพื้นที่แนวชายแดน ประชาชนจะเดินทางเข้า-ออกอย่างสะดวก โดยเฉพาะบริการทางการแพทย์ของประเทศไทย ได้รับการยอมรับว่ามีศักยภาพสูงในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งการบริการส่งเสริมสุขภาพ เช่น สปา นวดแผนไทย ธุรกิจความงามด้วย
                     
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า  ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำข้อตกลงอาเซียนในเรื่องคุณสมบัติทางวิชาชีพ หรือที่เรียกว่าเอ็มอาร์เอ (MRA : Mutual Recognition Arrangement) เพื่ออำนวยความสะดวกในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของบุคลากรด้านสุขภาพ ได้ลงนามแล้ว 3 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ และพยาบาล  และจะเพิ่มอีก 7 สาขาวิชาชีพ  ได้แก่ 1.การแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย  2.กิจกรรมบำบัด
3.เทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก 4.รังสีเทคนิค 5.จิตวิทยาคลินิก 6.กายอุปกรณ์ และ7.การแพทย์แผนจีน และอีก 2 ศาสตร์ ได้แก่ ทัศนมาตรศาสตร์ หรือผู้ที่ประกอบวิชาชีพด้านการตรวจวัดสายตา และศาสตร์ไคโรแพรคติกจัดกระดูก ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองประชาชนได้รับบริการที่มีมาตรฐานความปลอดภัย ทั้งนี้ คณะทำงานจัดทำข้อตกลงอาเซียนในเรื่องคุณสมบัติทางวิชาชีพเวชกรรมในกลุ่ม 10 ประเทศ มีนายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา เป็นประธานคณะทำงาน
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อไปว่า สำหรับในด้านมาตรฐานของสถานพยาบาลในประเทศไทย ทั้งสังกัดรัฐและเอกชนทั่วประเทศ  กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งพัฒนาให้ทุกแห่งต้องผ่านเกณฑ์ที่จำเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านความปลอดภัย ความสะอาดสถานที่  คุณภาพมาตรฐานเครื่องมือบริการทางการแพทย์ ต้องมีประสิทธิภาพ มีการสอบเทียบความเที่ยงตรงของเครื่องมือแพทย์ตามมาตรฐานสากล มีความพร้อมให้บริการ ทั้งภาวะปกติและฉุกเฉิน  และต้องมีระบบให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชน สร้างพฤติกรรมการมีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย  ให้ความรู้การปฏิบัติตัวหลังเจ็บป่วย เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน และมาตรฐานด้านการรักษาพยาบาล ในปี 2556 นี้ มีโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านเกณฑ์แล้ว 152 แห่ง โดยมีเป้าหมายพัฒนาให้ได้มาตรฐานครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งรัฐและเอกชนในปี 2558
  *************************   23 สิงหาคม 2556


   
   


View 18    23/08/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ