รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายนักวิชาการด้านสาธารณสุขทั่วประเทศ เครือข่ายสถาบันศึกษาด้านสุขภาพ  ปรับกระบวนการทำงานแนวใหม่ในโลกยุคข่าวสารเพิ่มงานเชิงรุกในการแก้ปัญหาสุขภาพ ทั้งที่เกิดจากคนทำและจากธรรมชาติ  จัดทำฐานองค์ความรู้มาตรฐานทางวิชาการเป็นเครือข่าย ช่วยลดความเสี่ยงทางสุขภาพ ประชาชนไม่ตระหนก แต่มีความตระหนักในปัญหา   

     วันนี้ (15 สิงหาคม 2556) ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมวิชาการสาธารณสุขแห่งชาติครั้งที่ 14 และการประชุมวิชาการสาธารณสุขนานาชาติ ครั้งที่ 6 เรื่อง “มุมมองเชิงนิเวศน์ในงานสาธารณสุขเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน: การเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงและความ ท้าทาย” (Ecological Perspectives in Public Health for Sustainable Development: Changes, Risks and Challenges) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ นักวิชาการ นักวิจัย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข สถาบันการศึกษาด้านสาธารณสุข และผู้สนใจทั่วไป ทั้งชาวไทย และนานาชาติ ประมาณ 700 คน   เพื่อนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับกับการพัฒนางานสาธารณสุข เสนอแนะต่อการพัฒนาทั้งระบบบริการสุขภาพและนโยบายสาธารณสุข เพื่อจัดการกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21  ในทุกมิติ  ซึ่งเป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน  การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษในปีพ.ศ.2558 เพื่อพัฒนาเป็นครือข่ายในการดำเนินการร่วมกันระหว่างสถาบันวิชาการด้านการสาธารณสุข กับองค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตอบสนองต่อการจัดการด้านสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และอยู่ในทิศทางเดียวกัน   

      นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า  ในการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพต่างๆ ลำพังเพียงกระทรวงสาธารณสุขหน่วยงานเดียว ไม่สามารถกำหนดนโยบายของประเทศไทยได้สำเร็จ  เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา เกิดจากมนุษย์เรากระทำมากกว่าการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ธรรมชาติเองก็พยายามที่จะรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม ซึ่งบางครั้งธรรมชาติก็รักษาไว้ไม่ไหว ทำให้เกิดปัญหาได้ เช่น กรณีของไข้เลือดออก ยุงลายที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากผลของการเปลี่ยนแปลงจากปรากฎการณ์      โลกร้อน เป็นต้น  ความเปลี่ยนแปลงจากผลกระทบภายนอกทั้งจากสังคม หรือจากธรรมชาติ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน ดังนั้นในการทำงานของนักวิชาการสาธารณสุขซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ต่างๆ  จึงต้องมีการปรับการทำงานแนวใหม่  เพิ่มงานเชิงรุกเพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดผลกระทบกับสุขภาพ  เนื่องจากมุมมองการทำงานที่ทำมาตลอดคือเชิงตั้งรับ มองปัญหาในเชิงรับ คือแก้เมื่อปัญหาเกิดแล้วการป้องกันก่อนเกิดปัญหามีน้อยมาก 

      “ในการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข ในปัจจุบันและอนาคต  ได้มอบนโยบายให้เปลี่ยนมุมมองเชิงรับ  เป็นเชิงรุก   โดยใช้องค์ความรู้อย่างเป็นระบบ  มีฐานข้อมูลที่เป็นมาตรฐานของประเทศที่ชัดเจน  เพื่อใช้แก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที เช่น ปรากฏการณ์ท่อน้ำมันดิบรั่วในทะเล ที่จังหวัดระยองที่ผ่านมา  จะต้องมีการรวบรวมองค์ความรู้ วิชาการ สามารถใช้อ้างอิง  มีขบวนการสื่อสารให้ความรู้ ที่เป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนได้ทั้งในระดับระดับพื้นที่ ระดับประเทศ นานาชาติ ทำให้ประชาชนไม่ตระหนก แต่มีความตระหนักในปัญหา” นายแพทย์ประดิษฐกล่าว         

                                                                                                                                                             สิงหาคม /8 *********************** 15 สิงหาคม 2556



   
   


View 14    16/08/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ