ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงกำกับการควบคุมไข้เลือดออกที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย เผยสถิติไข้เลือดออก 5 เดือนแรกปีนี้มีผู้ป่วยทั่วประเทศเกือบ 10,000 ราย เสียชีวิต 10 ราย สั่งการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ตั้งวอร์รูมไข้เลือดออกติดตามกำกับใกล้ชิด รณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกอาทิตย์ โดยเฉพาะ 10 จังหวัดที่ระบาดสูงสุด ให้เข้มเป็นกรณีพิเศษ เมื่อพบผู้ป่วยแม้ 1 รายให้หน่วยเคลื่อนที่เร็ว ควบคุมโรคที่บ้านทันที
บ่ายวันนี้ (4 มิถุนายน 2550) นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนายแพทย์สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้ตรวจราชการ ให้สัมภาษณ์ภายหลัง เดินทางติดตามการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคไข้เลือดออกที่หมู่ 6 ตำบลบ้านไร่ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวเขาเผ่าอาข่า โดยตั้งแต่มกราคม 2 มิถุนายน 2550 พบผู้ป่วยแล้ว 99 ราย จากคนในหมู่บ้านทั้งหมดมีประมาณ 500 กว่าครัวเรือนรวม 2,000 กว่าคน สถานการณ์ในวันนี้เจ้าหน้าที่ได้พ่นหมอกควันสารเคมีกำจัดยุงลายตัวแก่และอบควันในบ้านทุกหลัง และมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ค้นหาผู้ป่วยในหมู่บ้านจนกว่าสถานการณ์จะสงบ คาดว่าจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ โดยพบผู้ป่วยที่มีไข้ สงสัยเป็นไข้เลือดออก เพิ่มขึ้นวันละประมาณ 40- 50 ราย ได้ส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลแม่จัน และใกล้เคียง โดยมีอาการช็อค 18 ราย ขณะนี้อาการปลอดภัย ไม่มีใครเสียชีวิต โดยกระทรวงสาธารณสุขให้การรักษาฟรี
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ไข้เลือดออกทั่วประเทศ จากการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วง 5 เดือนแรกในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึงปลายเดือนพฤษภาคม 2550 พบผู้ป่วยสะสม 9,245 ราย เสียชีวิต 10 ราย โดยจำนวนผู้ป่วยมากกว่าช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา เกือบ 17 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพบผู้ป่วย 7,930 ราย เสียชีวิต 9 ราย พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 1,000 กว่าราย ผู้ป่วย 40 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่ภาคกลาง รองลงมาที่ภาคใต้ พบได้ 25 เปอร์เซ็นต์
จังหวัดที่มีอัตราป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกสูงที่สุด 10 จังหวัด เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทุก 100,000 คน เรียงจากมากไปน้อย ดังนี้ 1. สมุทรสาคร มีอัตราป่วย 63 คน 2. ตราด อัตราป่วย 61 3. พังงา อัตรา 47 4.ปัตตานี แสนละ 41 คน 5.สงขลา อัตราป่วย 39 6.ยะลา อัตราป่วย 38 คน 7.สมุทรปราการ อัตราป่วย 33 8.จันทบุรี อัตราป่วย 30 9. สมุทรสงคราม อัตราป่วย 28 และ10.สุราษฏร์ธานี อัตราป่วย 27 ส่วนกทม.มีรายงานป่วยทั้งหมด 1,612 ราย เสียชีวิต 1 ราย เขตที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ ป้อมปราบ แสนละ 60 ราย
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อไปว่า ได้ทำหนังสือสั่งการด่วนให้ทุกจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก เพื่อลดความรุนแรงในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคสูงสุดทุกปี โดยให้ตั้งวอร์รูม มีมิสเตอร์ไข้เลือดออก ติดตามปัญหาและวางแผนการควบคุมโรคในพื้นที่อย่างต่อเนื่องใกล้ชิด โดยหากมีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือด แม้จะเพียง 1 รายก็ตาม ให้ส่งทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็วซึ่งทุกจังหวัดมีประมาณ 10 ทีม ลงควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดที่บ้านและชุมชนของผู้ป่วยในรัศมี 50 เมตรทันที ซึ่งเป็นระยะทางที่ยุงลายบินได้ โดยฉีดพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดยุงตัวแก่ และรณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้านและชุมชนทุกสัปดาห์
ในส่วนของโรงพยาบาลต่างๆ ให้เข้มมาตรการรักษา เพื่อลดการเสียชีวิตหลังป่วย โดยผู้ป่วยกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ รักษาหายขาด และมีผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 3 ที่อาจมีอาการรุนแรงเข้าขั้นช็อคได้จากน้ำเลือดพลาสม่ารั่วไหลที่ช่องท้องและปอด ผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ ทุกราย ที่มีไข้สูง ขอให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคไข้เลือดออกไว้ก่อน ขอให้แพทย์ พยาบาลซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด อย่างละเอียด และให้ทุกแห่งดูแลแหล่งน้ำขังต่างๆ ที่อาจจะเป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย และดูแลมุ้งลวดเพื่อป้องกันยุงลายกัดผู้ป่วย ส่วนในระดับบ้านเรือน หากมีผู้ป่วยมีไข้สูง ตัวร้อนเฉียบพลันขอให้ใช้น้ำเย็นเช็ดตัวช่วยลดไข้ ให้นอนในมุ้งเพื่อป้องกันยุงกัดนำเชื้อโรคไปแพร่คนอื่น และให้กินยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ หากไม่ดีขึ้นใน 2-3 วัน ให้พาไปตรวจที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทันที
ด้านนายแพทย์สุรินทร์ สุมนาพันธ์ นายแพทย์ 9 ด้านเวชกรรมป้องกัน มิสเตอร์ไข้หวัดนกจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า สถานการณ์ไข้เลือดออกในจังหวัดเชียงราย ในปีนี้พื้นที่ที่ระบาด 90 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ อ.แม่จัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวเขาอาศัยอยู่ จำนวนมาก เหตุที่ยุงลายมากเนื่องจากสภาพบ้านเรือนชาวเขามักมุงด้วยหญ้าคา ทำให้ภายในบ้านมืด อับทึบ เป็นที่อยู่ที่ยุงลายชอบ ชาวบ้านนิยมก่อบ่อซีเมนต์เก็บน้ำประปาภูเขาแทนการใช้โอ่ง โดยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์พบลูกน้ำยุงลายจำนวนมาก เมื่อเจ็บป่วยมักไม่กล้าออกไปพบแพทย์เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีบัตรประชาชน จึงทำให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อแบบทวีคูณ เพราะมีคนป่วยหลายคนในคราวเดียวกัน ซึ่งพบทุกวัย
มาตรการเร่งด่วนนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย สำนักงานควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดเชียงใหม่ หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่จัน และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ตำบลแม่จันได้ลงพื้นที่รณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบริเวณบ้าน ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำในบ่อเก็บน้ำ พ่นหมอกควันกำจัดยุงลายตัวแก่ และให้ความรู้แก่ชาวเขา โดยอาศัย อสม. ช่วยเป็นล่ามและรณรงค์อย่างต่อเนื่อง
******************************** 4 มิถุนายน 2550
View 20
04/06/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ