รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตือนหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ที่สูบบุหรี่ เสี่ยงได้ลูกพิการปากแหว่งเพดานโหว่ โดยเฉพาะช่วงท้อง 3 เดือนแรก มีผลวิจัยพบว่าหากสูบบุหรี่จัดวันละ 20 มวน จะมีความเสี่ยงสูงกว่าหญิงที่ไม่ได้สูบ 2 เท่าตัว ขณะนี้ไทยพบเด็กคลอดใหม่มีปัญหานี้วันละ 4 คน เร่งจัดบริการรักษาฟื้นฟูตั้งแต่อูแว้ เช้าวันนี้ (4 มิถุนายน 2550) ที่โรงแรมลีการ์เด้นท์ พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุวัจน์ เฑียรทอง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และแพทย์หญิงศรีวรรณา พูลสรรพสิทธิ์ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุขด้านเวชกรรม เปิดประชุมเตรียมความพร้อมบุคลากร ในโครงการ “ยิ้มสวย เสียงใส” เทิดพระเกียรติ 50 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ปี 2550 ประกอบด้วย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข สาธารณสุขนิเทศ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน สาธารณสุขอำเภอ ศัลยแพทย์ตกแต่ง ทันตแพทย์จัดฟัน พยาบาล นักแก้ไขการพูด นายกเหล่ากาชาดจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เจ้าหน้าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพเขตภาคใต้ ใน 14 จังหวัด ประมาณ 300 คน เพื่อสร้างเครือข่ายการดูแลเด็กพิการปากแหว่งเพดานโหว่ ให้ได้รับการดูแลรักษาฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องครบวงจร ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สภากาชาดไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย สมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย สมาคมโสตสัมผัสวิทยาและการแก้ไขการพูดแห่งประเทศไทย นายแพทย์วัลลภ กล่าวว่า ปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นความพิการแต่กำเนิดที่พบได้บ่อยในเด็กแรกเกิด ในไทยพบได้ 1-2 คนต่อเด็กแรกเกิดทุก 1,000 คน หรือพบวันละประมาณ 4 คน ความพิการดังกล่าว นอกจากทำให้เด็กดูดนมกลืนอาหารได้ลำบากแล้ว ยังทำให้เกิดเป็นปมด้อยทางใบหน้า รวมทั้งเสียงพูดไม่ชัด ซึ่งสามารถผ่าตัดตกแต่งส่วนที่แหว่ง โหว่ให้ติดกันตั้งแต่แรกเกิด และดูแลรักษาต่อเนื่องจนถึงวัยรุ่นตอนปลายได้ แต่หากเป็นผู้มีฐานะยากจน อยู่ห่างไกล พ่อแม่มักจะปล่อยตามยถากรรม อยู่อย่างอมทุกข์เพราะไม่มีเงินรักษา เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงหลายหมื่นบาท ซึ่งการรักษาเด็กประเภทนี้ล้วนต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งแพทย์ผ่าตัด ทันตแพทย์ นักฝึกพูดเฉพาะทางที่มีประสบการณ์ และมีระบบการประสานงานกันเป็นอย่างดี สาเหตุแท้จริงที่ทำให้เกิดความผิดปกติปากแหว่งเพดานโหว่นั้นมีหลายปัจจัยร่วมกัน ที่สำคัญได้แก่ พันธุกรรมและสภาวะแวดล้อม หรือทั้ง 2 สาเหตุร่วมกัน โดยปากแหว่งมักเป็นพันธุกรรม พบในเด็กผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ส่วนปัจจัยทางสภาวะแวดล้อม เช่น อายุมารดา การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ขาดสารอาหาร ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อพัฒนาการเจริญเติบโตของทารกมากในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ทำให้เกิดปัญหาปากแหว่ง หรือเพดานโหว่ได้ โดยมีผลการวิจัยในต่างประเทศพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่วันละมากกว่า 20 มวน เสี่ยงได้ลูกปากแหว่งเพดานโหว่มากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่สูบมากถึง 2 เท่าตัว นายแพทย์วัลลภ กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการยิ้มสวย เสียงใส เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 โดยเร่งค้นหาขึ้นทะเบียนเด็กปากแหว่ง เพดานโหว่ทั่วประเทศที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ทุกคน เพื่อผ่าตัดเย็บซ่อมรอยแหว่งปิดรอยโหว่ ให้สามารถพูดออกเสียงได้เหมือนคนปกติ และฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องฟรี โดยเฉพาะเด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งอาจขาดโอกาสในการเข้ารับการรักษา ได้มอบหมายให้ช่วยกันเร่งค้นหา ขึ้นทะเบียนเพื่อรับการผ่าตัดแก้ไขโดยไม่จำกัดอายุ ขณะนี้มีเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ขึ้นทะเบียนไว้ทั้งหมด 1,851 ราย โดยอยู่ในภาคเหนือ 321 ราย ภาคกลาง 493 ราย ภาคอีสาน 613 ราย และภาคใต้ 424 ราย ได้รับการผ่าตัดไปแล้ว 1,265 ราย ที่เหลืออยู่ระหว่างการรอผ่าตัด โครงการนี้จะเป็นหลักประกันความมั่นคงแก่เด็กแรกเกิดที่ ปากแหว่ง เพดานโหว่ ทุกรายจะได้รับการดูแลแก้ไขฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง จนไม่หลงเหลือร่องรอยความพิการให้เห็นอีกต่อไป ทางด้านนายแพทย์สุวัจน์ เฑียรทอง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ในปี 2550 จะเน้นบริการดูแลต่อเนื่องหลังผ่าตัดแก้ไขลดความพิการบนใบหน้าแล้วในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านที่สุด โดยให้ทันตแพทย์และนักแก้ไขการพูดที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ดำเนินการจัดฟันให้เรียงเข้าที่เหมือนเด็กปกติ และฝึกการพูดให้เสียงชัดเจน และขยายกลุ่มเป้าหมายให้เด็กปากแหว่งเพดานโหว่ที่เกิดก่อน 1 มกราคม 2547 ที่ยังไม่เคยได้รับการฟื้นฟูมาก่อนเข้าร่วมในโครงการนี้ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ************************************* 4 มิถุนายน 2550


   
   


View 13    04/06/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ