รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตือนวัยรุ่นวัยเรียน อย่าริลองหลงเชื่อการสร้างภาพยาไอซ์ ชี้ยาชนิดนี้ภัยร้ายสุดๆ ไม่ได้ช่วยให้ผอม หุ่นดี แต่ฤทธิ์อันตราย ทำให้ไม่อยากอาหาร ร่างกายจะทรุดโทรม ทำลายสมอง ความคิดความจำเสื่อม แนะหากใครหลงผิดเสพไปแล้วมีทางแก้ ขอให้ปรึกษาที่สถาบันธัญญารักษ์ สายด่วน 1165 ตลอด 24 ชั่วโมง 

       กรณีที่มีข่าวกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะผู้หญิง ที่ทดลองเสพยาไอซ์ เพราะเชื่อว่าจะช่วยทำให้รูปร่างผอม หุ่นดี เป็นกระแสข่าวขณะนี้นั้น ในวันนี้ (26 กรกฎาคม 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวรณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ไทยกำลังเผชิญปัญหาการหวนกลับมาแพร่ระบาดของยาเสพติด ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอย่างต่อเนื่อง เป็นข้อสังเกตว่าในระยะหลังๆนี้ ได้พยายามดึงดูดกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เป็นวัยอยากรู้อยากลอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงให้เสพยาไอซ์ โดยสร้างความเชื่อปลูกฝังค่านิยมผิดๆ ว่า เป็นยาของคนมีเงิน หรือกลุ่มไฮโซ เสพแล้วจะทำให้ผอม ผิวพรรณดี ไม่มีกลิ่นตัว  ทั้งที่จริงแล้วยาชนิดนี้เป็นเมทแอมเฟตามีน สารตัวเดียวกับที่ใช้ทำยาบ้า ที่นิยมใช้กันในกลุ่มคนใช้แรงงาน ขับรถระยะเวลานาน เช่น รถสิบล้อ รถส่งของ แต่สร้างภาพเพื่อยกระดับให้มีราคาสูงขึ้น     

      นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ยาชนิดนี้เมื่อเสพแล้วจะทำให้ไม่เกิดความอยากอาหาร ผู้เสพจึงผอมลง เมื่อเสพติตต่อกันในระยะยาวจะทำให้ร่างกายทรุดโทรม เซลล์ประสาทสมองจะถูกทำลายทำให้ความคิดไม่ว่องไว ไม่เป็นเหตุเป็นผล ความจำไม่ดี หากเสพเกินขนาดจะเกิดพิษเฉียบพลัน ทำให้หัวใจเต้นเร็ว เต้นผิดจังหวะ เกิดปัญหาหัวใจวายเฉียบพลัน เสียชีวิตได้ง่ายๆ บางรายอาจเกิดอาการประสาทหลอน เกิดอุบัติเหตุได้ ที่น่าห่วงคือ คนที่เสพไอซ์จะมีอาการเหมือนคนเสพยาบ้า เนื่องจากสารเมทแอมเฟตามีน จะออกฤทธิ์กระตุ้นจิตประสาท เช่น กระฉับกระเฉง อารมณ์ดีผิดปกติ นอนไม่หลับ ไม่อยากกินอาหาร แต่อาการจะรุนแรงกว่า และเกิดอาการทางจิตประสาทได้เร็วกว่ายาบ้า เนื่องจากไอซ์เป็นเมทแอมเฟตามีน ที่ทำให้ตกผลึกเป็นเกล็ด ฤทธิ์จึงมีความเข้มข้นสูงมากกว่าร้อยละ 90 ขณะที่ยาบ้าเป็นเมทแอมเฟตามีนที่มีส่วนผสมอื่นๆ เพื่อทำให้มีลักษณะเป็นเม็ด จากข้อมูลของสถาบันธัญญารักษ์พบว่า ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา ผู้ที่เข้ารับการบำบัดสารเมทแอมเฟตามีน เป็นผู้เสพไอซ์อย่างเดียว เสพไอซ์ร่วมกับยาบ้าหรือสารเสพติดอื่นๆ เข้ารับการบำบัดเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20-30 จากเดิมที่เป็นผู้เสพยาบ้าอย่างเดียว ที่น่าห่วงไปกว่านั้นพบว่าผู้เข้ารับการบำบัดมีอาการทางจิตร่วมด้วย เช่น ประสาทหลอน หวาดระแวงเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยพบเพียงร้อยละ 20 เพิ่มเป็นประมาณร้อยละ 45 ในปี 2555

        นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อไปว่า ในการบำบัดรักษายาไอซ์ ยาบ้า หรือสารกระตุ้นประสาททั้งหลาย ขณะนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ จะใช้การรักษาตามอาการ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการซึมเศร้า บางรายรุนแรงถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย จะใช้ยาต้านการซึมเศร้า สิ่งสำคัญคือการฟื้นฟู เนื่องจากสารเมทแอมเฟตามีนจะเข้าไปทำลายเซลล์สมอง เซลล์ประสาท เป็นโรคที่เรียกว่าโรคสมองติดยา ต้องใช้เวลาในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูอย่างน้อย 3-4 เดือน และติดตามดูแลช่วยเหลือหลังผ่านการบำบัด 1 ปี เพื่อไม่ให้กลับไปเสพซ้ำอีก

       “กระทรวงสาธารณสุข มีความพร้อมในการบำบัดรักษา แต่ปัญหาที่พบคือผู้เข้ารับการบำบัดจำนวนไม่น้อยที่ออกจากกระบวนการบำบัดกลางคัน ทำให้กลับไปเสพซ้ำ ขณะที่ผู้ผ่านการบำบัดครบระยะเวลาสามารถเลิกเสพยาถาวรถึงร้อยละ 90 ดังนั้นจึงอยากให้สังคม ครอบครัว เพื่อนฝูงเปิดกว้างรับผู้ที่เสพยา ผู้ติดยา ว่าเป็นผู้ป่วย ช่วยเหลือสนับสนุนในการเข้ารับรักษา รวมทั้งให้โอกาสในการกลับไปใช้ชีวิตในการเรียน การทำงานโดยไม่มีการรังเกียจกีดกัน เพื่อไม่ให้หวนกลับเข้าสู่วงจรเดิมซ้ำอีก โดยผู้ที่หลงผิดและเสพยาไปแล้ว ยังมีวิธีการช่วยทัน สามารถโทรปรึกษาที่สถาบันธัญญารักษ์ สายด่วน 1165 ตลอด 24 ชั่วโมง” นายแพทย์ประดิษฐกล่าว

**********************************  26 กรกฎาคม 2556



   
   


View 16    26/07/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ