กระทรวงสาธารณสุขไทยและกัมพูชา ร่วมหารือความร่วมมือด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อดูแลประชาชนตามแนวชายแดน โดยจะร่วมจัดบริการดูแลผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินร่วมกัน และจะจัดระบบการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในลักษณะคู่แฝด เพิ่มความมั่นใจประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ขณะเดียวกันไทยพร้อมสนับสนุนกัมพูชาพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพด้วย         
  
          นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางกลับจากการร่วมหารือยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ชายแดนและการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมไทย-กัมพูชา ร่วมกับรัฐบาลกัมพูชา พร้อมด้วยนายแพทย์โสภณ เมฆธน                       รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ธวัชชัย กมลธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเครือข่ายบริการที่ 6 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาว่า ผลการหารือครั้งนี้เป็นไปด้วยความราบรื่น โดยที่ประชุมมีข้อตกลงความร่วมมือ 2 เรื่องที่เป็นความจำเป็นร่วมกัน คือ 1. การดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุ ฉุกเฉิน และ 2. เรื่องการพัฒนาระบบการดูแลส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงทั้งการบาดเจ็บและเจ็บป่วยทั่วไป ในโรงพยาบาลที่อยู่ในจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกัน 7 จังหวัด โดยจะจัดให้มีโรงพยาบาลคู่แฝด (sister hospital) ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนทั้งสองประเทศ จะได้รับการดูแลต่อเนื่องและมาตรฐานเดียวกัน            
 
          นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า สำหรับการดูแลชาวกัมพูชาที่เจ็บป่วยอื่นๆ และข้ามมาใช้บริการที่โรงพยาบาลในฝั่งไทย กระทรวงสาธารณสุขไทยจะให้การดูแลด้วยหลักมนุษยธรรม และเรียกเก็บค่าบริการในรายที่สามารถจ่ายได้ ในระยะยาวไทยได้เสนอให้กัมพูชาใช้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อให้การดูแลประชาชนเข้าถึงบริการอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง ซึ่งได้รับการตอบรับจากกัมพูชาเป็นอย่างดี และการพัฒนาต้องค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากรัฐบาลกัมพูชายังมีภาระค่าใช้จ่ายของประเทศสูง โดยไทยจะให้การสนับสนุนทางวิชาการอย่างเต็มที่        
    
          นายแพทย์ธวัชชัย กมลธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลในพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา 7 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี และตราด รับผิดชอบค่ารักษาฟรีแก่ผู้ป่วยชาวกัมพูชาประมาณปีละ 50 ล้านบาท เช่นที่จังหวัดตราด จันทบุรี สระแก้ว ในปีพ.ศ. 2555 มีค่ารักษาที่เรียกเก็บไม่ได้ประมาณ 24 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ผู้ป่วยกัมพูชาที่มาใช้บริการสูงสุดเป็นโรคท้องร่วง ปอดบวม และอาหารเป็นพิษตามลำดับ สำหรับผู้ป่วยในสูงสุดเป็นคลอดบุตรบางโรงพยาบาลเช่นคลองใหญ่ ประมาณร้อยละ 70 ของผู้มาคลอดบุตรเป็นชาวกัมพูชา ความร่วมมือระหว่างประเทศครั้งนี้ จะเพิ่มความมั่นใจ เอื้อให้มีการพัฒนาร่วมกัน โดยในการส่งต่อผู้ป่วยนั้น จะมีการจับคู่ระหว่างโรงพยาบาลใหญ่ทั้ง 2 ประเทศ เช่น รพ.สระแก้ว กับรพ.บันเตียเมียนเจย รพ.พระปกเกล้าจันทบุรี คู่กับ รพ.พระตะบอง รพ.ตราด คู่กับรพ.เกาะกง เป็นต้น โดยจะมีการประชุมเพื่อจัดทำคู่มือแนวทางความร่วมมือกันในเร็วๆนี้ และจะมีการศึกษาดูงานในพื้นที่ด้วย                
 
ทั้งนี้ในปี 2556 นี้ ไทยมีแผนพัฒนาทีมแพทย์พยาบาล เจ้าหน้าที่ของกัมพูชา เรื่องมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โดยเฉพาะทีมแพทย์กู้ชีพฉุกเฉิน ระบบการดูแลที่ห้องอีอาร์ การควบคุมโรค                   ตามแนวชายแดนโดยเฉพาะโรคมาลาเรียชนิดดื้อยาอาร์ติมิชินิน และอบรมเพิ่มศักยภาพอสม.หมู่บ้านคู่ขนานชายแดนไทย-กัมพูชาด้วย      
    
    **************************   22     กรกฎาคม 2556


   
   


View 19    22/07/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ