กระทรวงสาธารณสุข  เผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางครั้งที่ 42  ตามแผนปฏิบัติการวาระแห่งชาติ พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด และเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดสากล  น้ำหนักรวมกว่า  3 ตัน  มูลค่ากว่า 10,080 ล้านบาท จาก 2,584  คดี โดยเป็นยาบ้ามากที่สุดถึง 31 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 9,312 ล้านบาท ส่วนผลการบำบัด   ผู้ติดยาเสพติดในรอบ 9 เดือนปีงบประมาณ 2556 บำบัดแล้วกว่า 1.5  แสนราย จากเป้าหมาย 3 แสนราย      ร้อยละ 84  ติดยาบ้า  โดย 1 ใน 3  เป็นกลุ่มอายุระหว่าง  18-24  ปี

วันนี้ (26 มิถุนายน 2556) ที่ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข   พร้อมด้วย นายแพทย์บุญชัย  สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารยา (อย.) เป็นประธานในพิธีเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง ครั้งที่ 42 เพื่อร่วมต่อต้านและขจัดปัญหายาเสพติด เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิถุนายนทุกปี   โดยมีทูตานุทูต ผู้บริหารจากทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน

  ยาเสพติดให้โทษที่เผาทำลายครั้งนี้ มีน้ำหนักรวมทั้งสิ้นกว่า 3,363 กิโลกรัม จาก 2,584 คดี รวมมูลค่ากว่า 10,080 ล้านบาท ได้แก่ เมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า จำนวนรวมกว่า 2,793 กิโลกรัมหรือประมาณ 31 ล้านเม็ด มูลค่าประมาณ 9,312 ล้านบาท ยาไอซ์จำนวนรวมกว่า 298  กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 597 ล้านบาท เฮโรอีนจำนวนรวมกว่า 125 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท เอ็กซ์ตาซี่ หรือ ยาอี จำนวนรวมกว่า 4 กิโลกรัม (ประมาณ 16,570 เม็ด) มูลค่า ประมาณ 16  ล้านบาท   โคคาอีนจำนวนรวมกว่า 17 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 51 ล้านบาท เป็นต้น  ของกลางทั้งหมดนี้จะเผาทำลายด้วยวิธีไพโรไลติก อินซิเนอเรชั่น (Pyrolytic Incineration)  ซึ่งเป็นการเผาในเตาที่อุณหภูมิความร้อนสูงกว่า 850 องศาเซลเซียส ทำให้สารเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ทุกชนิด  สลายตัวเป็นเถ้าถ่านทั้งหมดภายในเวลารวดเร็วไม่สามารถนำไปใช้ได้อีก ไม่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศและสิ่งแวดล้อม  โดยหลังเผาทำลายแล้ว เจ้าหน้าที่จะทำการสุ่มตัวอย่างเถ้าในเตาเผา เพื่อตรวจวิเคราะห์ว่า มียาเสพติดเหลืออยู่หรือไม่ ซึ่งผลการตรวจที่ผ่านมาทุกครั้ง ไม่พบสารเสพติดเหลืออยู่ในขี้เถ้าของกลางแต่อย่างใด

นายแพทย์ชลน่าน  กล่าวว่า  แนวโน้มการระบาดของยาเสพติดอยู่ในเกณฑ์น่าห่วง  รายงานล่าสุดขององค์การสหประชาชาติในปี 2553 ทั่วโลกมีผู้เสพสารเสพติดอายุ 15-64 ปี  ระหว่าง  153-300 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดยา 15 - 38 ล้านคน สารเสพติดที่ใช้มากที่สุด อันดับ 1 ได้แก่กัญชามีผู้เสพ 119-224 ล้านคน รองลงมาคือยาบ้า มีผู้เสพ 14 -52 ล้านคน และฝิ่น มีผู้เสพ 26 – 36 ล้านคน  ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพและเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคติดต่อ โดยพบว่าผู้ที่ฉีดเฮโรอีนเข้าเส้น ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 3 ล้านคน และอีกประมาณ 9 ล้านคน ติดเชื้อไวรัสตับอีกเสบชนิดบีและซี      

สำหรับประเทศไทย รัฐบาลโดย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้การแก้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ  ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ศพส.)  ขับเคลื่อนงาน

แก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดอย่างเร่งด่วน และบำบัดผู้เสพผู้ติดสารเสพติดซึ่งถือว่าเป็นผู้ป่วย ให้เลิกใช้ยาอย่างเด็ดขาด  โดยในปีนี้ตั้งเป้าบำบัดให้ได้ไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน  จากที่คาดว่าน่าจะมีผู้ใช้ยาเสพติดประมาณ  2 ล้านคน 

อย่างไรก็ตามปริมาณยาเสพติดให้โทษของกลางที่ อย.ตรวจรับ พบว่ามีปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ จากตรวจรับ 4,300.88  กิโลกรัม จาก 42,803 คดี  ในปี 2553 เพิ่มเป็น 7,780.33 กิโลกรัม จาก 76,739 คดี ในปี 2555 หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 80 ส่วนใหญ่เป็นเมทแอมเฟตามีนประมาณร้อยละ 80 ของยอดคงคลัง และที่พบปริมาณสูงมากขึ้นอย่างชัดเจนคือเมทแอมเฟตามีนชนิดความบริสุทธิ์สูงที่เรียกว่า ไอซ์ และในรอบ 3 เดือน     ในปี 2556 ตั้งแต่เดือนมกราคม–มีนาคม ตรวจรับ 2,881.63 กิโลกรัม จาก 22,121 คดี หลังจากเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางครั้งที่ 42 แล้ว ยังมียาเสพติดให้โทษของกลางคงเหลือเก็บรักษาที่ อย. อีกกว่า 28 ตัน จาก 213,488 คดี มูลค่ากว่า 83,735 ล้านบาทของกลางเหล่านี้หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ริบ  ของกลางแล้ว ทาง อย. จะขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการกลาง เพื่อขออนุมัติทำลายต่อไป  

 ผลการบำบัดผู้เสพสารเสพติดทุกชนิดในรอบ 9 เดือน ในปีงบประมาณ 2556 ตั้งแต่วันที่ 1ตุลาคม 2555-7 มิถุนายน 2556  ผู้เข้ารับการบำบัด ในโรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัด 1,287 แห่งทั่วประเทศ  รวม 158,012  คน  โดยเป็นผู้บำบัดโดยระบบบังคับบำบัดมากที่สุด 84,404 คน รองลงมาคือระบบสมัครใจ 60,622  คน และในระบบต้องโทษ  12,986  คน โดยผู้ที่เข้ารับการบำบัด  1 ใน 3  อายุระหว่าง 18-24  ปี จัดว่าเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด  ร้อยละ 92 เป็นชาย โดยเป็นผู้เสพที่ยังไม่ติดร้อยละ 69  เป็นผู้ติดยาร้อยละ 29 และเป็นผู้เสพติดอย่างรุนแรงร้อยละ 2

ยาเสพติดที่ใช้มากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ยาบ้าร้อยละ 84  ยาไอซ์ร้อยละ 5 และกัญชาร้อยละ 4 อาชีพที่ใช้ยาเสพติดมากที่สุดคือรับจ้างร้อยละ 45 รองลงมาคือว่างงานร้อยละ 17  เกษตรกร ร้อยละ 14   นักเรียน/นักศึกษาร้อยละ 7

*****************************************  26  มิถุนายน 2556



   
   


View 21    26/06/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ