กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระวังอันตรายจากกินเห็ดพิษ   ไม่ควรเก็บเห็ดหรือเลือกซื้อเห็ดป่าที่ไม่รู้จักมาปรุงอาหารกิน  แนะหากพบผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษต้องทำให้อาเจียนออกมาให้มากที่สุด เพื่อลดการดูดซึมพิษเข้าร่างกาย และรีบส่งไปโรงพยาบาลทันที พร้อมนำเห็ดที่รับประทานไปด้วย ตั้งแต่ต้นปี 2556 พบผู้ป่วยแล้ว 450 ราย มากสุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  เฉพาะเดือนพฤษภาคมพบผู้ป่วยมากถึง 215 ราย

          นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์  ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายนของทุกปีจะพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ได้แก่ เห็ดตับเต่าบางชนิด เห็ดระโงกหิน เห็ดสมองวัว เห็ดน้ำหมึก เห็ดหิ่งห้อย เห็ดเกล็ดดาว เป็นต้น โดยเห็ดที่มีพิษรุนแรงถึงชีวิตที่พบได้บ่อยคือ เห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดสะงาก และเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับเห็ดระโงกที่กินได้ ข้อมูลการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี 2555 มีผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษ 2,120 ราย เสียชีวิต 25 ราย พบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,381 ราย รองลงมาคือภาคเหนือ 543 ราย  ส่วนในปี 2556 ตั้งแต่มกราคม – มิถุนายน พบผู้ป่วยแล้ว 450 ราย มากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 221 ราย รองลงมาคือภาคเหนือ 171 ราย เฉพาะช่วงเริ่มฤดูฝนเดือนพฤษภาคมเดือนเดียวพบผู้ป่วยมากถึง 215 ราย กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันอันตรายจากการกินเห็ดพิษ วิธีการสังเกตลักษณะของเห็ด การปฐมพยาบาลผู้ป่วยก่อนนำส่งโรงพยาบาล และส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงสอบสวนโรค ในผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตทุกราย พร้อมเก็บตัวอย่างเห็ดป่าที่รับประทานเข้าไป ส่งตรวจวิเคราะห์สารพิษ  ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

          นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า อาการของผู้กินเห็ดพิษจะมีหลายอาการตามชนิดของเห็ดที่กินเข้าไป ส่วนใหญ่จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้อง เป็นตะคริว อาจเกิดขึ้นหลังกินไม่กี่นาที หลายชั่วโมง หรือหลายวัน ในรายที่อาการรุนแรงจะเสียชีวิตได้ภายใน 1- 8 วัน จากการที่ตับถูกทำลาย ดังนั้นวิธีการช่วยเหลือที่สำคัญคือ ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมาให้มากที่สุด โดยดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือแกงแล้วล้วงคอออก เพื่อลดการดูดซึมพิษเข้าร่างกาย แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้านทันที พร้อมนำเห็ดที่รับประทานไปด้วย

       ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษส่วนใหญ่ เกิดจากความมั่นใจว่าเป็นเห็ดไม่มีพิษ เพราะลักษณะของเห็ดพิษกับเห็ดที่กินได้บางชนิดมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะขณะเห็ดยังดอกตูม วิธีสังเกตเห็ดที่ควรหลีกเลี่ยงไม่เก็บมากิน คือเห็ดที่มีสีน้ำตาล เห็ดที่ปลอกหุ้มโคน เห็ดที่มีวงแหวนใต้หมวก เห็ดที่มีโคนอวบใหญ่ เห็ดที่มีปุ่มปม เห็ดที่มีหมวกสีขาว เห็ดที่มีหมวกเห็ดเป็นรูปๆ แทนที่จะเป็นช่องๆคล้ายครีบปลา เห็ดตูมที่มีเนื้อในสีขาว เห็ดที่ขึ้นที่มูลสัตว์หรือใกล้มูลสัตว์ ที่สำคัญคือไม่ควรเก็บหรือซื้อหาเห็ดป่าที่ไม่รู้จักมาปรุงอาหารกินเพื่อความปลอดภัย ในการเก็บเห็ดที่ขึ้นตามธรรมชาติ ให้เก็บเห็ดที่มีรูปร่างสมบูรณ์ เก็บให้ครบทุกส่วนโดยขุดให้ลึก อย่าเก็บเห็ดหลังพายุใหม่เพราะสีบนหมวกของเห็ดบางชนิดอาจถูกฝนชะล้างให้จางลงได้ ไม่เก็บเห็ดที่ขึ้นใกล้โรงงานสารเคมี สนามกอล์ฟ หรือข้างถนน เนื่องจากเห็ดสามารถดูดซับสารพิษและโลหะหนักไว้ในตัวได้มาก เห็ดที่ไม่เคยกินมาก่อนควรกินเพียงเล็กน้อยเพราะอาจมีอาการแพ้ได้ และห้ามกินเห็ดดิบๆ โดยเด็ดขาด

********************************  19 มิถุนายน 2556

 



   
   


View 12    19/06/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ