นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกประจำปี 2556 ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขไทยได้ร่วมประชุมนโยบายระหว่างประเทศ (Foreign Policy and Global Health Initiative) กับ 7 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส นอร์เวย์ เซเนกัล อาฟริกาใต้ บราซิล อินโดนีเซีย เพื่อสร้างความร่วมมือใน 5 ประเด็นได้แก่  1.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  2.ตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ หรือเอ็มดีจี  (MDG) ช่วงต่อจาก พ.ศ.2558 เป็นต้นไป 3.โรคไม่ติดต่อ (NCD) 4.การซื้อยาและวัคซีนรวมทั้งการเตรียมวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และ5.โรคติดเชื้อจากไวรัสใหม่ๆ ที่รุนแรง  ซึ่งประเทศไทยได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลกและประเทศสมาชิกในการพัฒนาโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  โดยประเทศต่าง ๆ ให้ความสนใจที่จะเรียนรู้จากประเทศไทย

นายแพทย์ประดิษฐ์กล่าวว่า การทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุผลสำเร็จตามตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ ซึ่งขณะนี้มีประเด็นตัวชี้วัดด้านสุขภาพที่ประเทศต่างๆ เสนอเข้ามากว่า 140 ตัวชี้วัด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะบรรจุตัวชี้วัดทุกตัวไว้ในเป้าหมาย จึงได้เสนอแนวคิดให้หาตัวชี้วัดที่เป็นปัญหาร่วมกันในระดับโลก ตัวชี้วัดใดที่เป็นปัญหาในระดับภูมิภาคก็กำหนดในระดับภูมิภาค หรือเป็นปัญหาเฉพาะประเทศก็ไปกำหนดในประเทศ ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบแนวคิดนี้ของประเทศไทยที่เสนอต่อที่ประชุม

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ที่ประชุมแสดงความกังวลถึงงบประมาณที่จะต้องใช้ในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งผู้นำรัฐบาลและกระทรวงการคลังในหลายประเทศเกรงว่าจะใช้งบจำนวนมาก ไทยได้ให้ข้อมูลที่ประชุมว่า ถ้ามีการสร้างความต้องการต่างๆ ออกมามากมาย โดยไม่มีตัวชี้วัดผลจะเป็นปัญหากับระบบการเงินการคลังของประเทศ  เนื่องจากการลงทุนด้านสุขภาพให้ประชาชนมีสุขภาพดีเป็นการลงทุนระยะยาว จึงควรมีการกำหนดผลลัพธ์ในการประเมินให้เป็นที่ยอมรับของฝ่ายการเงินการคลัง โดยให้กำหนดสุขภาพประชาชนเป็นตัวชี้วัดเบื้องต้น ไม่เอาปัญหามากำหนดตัวชี้วัด ส่วนจะขยายต่อไปอย่างไรขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละประเทศ

ทั้งนี้ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเป็นการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น แต่ละประเทศมีความแตกต่างในเรื่องของบริบทและปัญหาสาธารณสุข แต่ก็สามารถใช้หลักการของโครงการนี้คือ การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เป็นเครื่องมือไปบรรลุผลสำเร็จสอดคล้องตามบริบทและปัญหาสาธารณสุขของแต่ละประเทศได้  ซึ่งประเทศไทยได้พยายามปรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้สอดคล้องกับปัญหาสาธารณสุขและบริบทในประเทศ อยู่ในวิสัยที่งบประมาณสามารถรองรับได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนทุกกลุ่ม โดยประเทศอาฟริกาใต้และประเทศเซเนกัล มีความสนใจจะเรียนรู้การดำเนินการด้านสาธารณสุขในประเทศไทย ซึ่งไทยพร้อมให้การสนับสนุน โดยได้มอบหมายให้นายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ประสานงานหลักต่อไป         

มิถุนายน1/10  *******************************    7 มิถุนายน 2556

 



   
   


View 20    07/06/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ