กระทรวงสาธารณสุข  เผยผลสำรวจพฤติกรรมเยาวชนไทยวัย 15-29 ปีน่าห่วง พึ่งยาลดความอ้วนร้อยละ 5  ใช้ยานอนหลับเป็นประจำเกือบร้อยละ 2  เริ่มสูบบุหรี่ ดื่มสุราทั้งชายและหญิงอายุเฉลี่ย 16 -17 ปี  บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรร้อยละ 14  เร่งแก้ไขและป้องกันปัญหา โดยสร้างยุวอสม.ในโรงเรียน คัดเลือกเด็กมัธยมศึกษาชายหญิงเข้าอบรมเพิ่มพูนทักษะความรู้ 6 เรื่อง เช่น ยาเสพติด  สุขภาพจิต การใช้ยาที่ถูกต้อง การปฐมพยาบาลช่วยชีวิตฉุกเฉิน   เริ่มโรงเรียนในพื้นที่กทม.และปริมณฑล 174 แห่ง รวม 9,514 คน ยุวอสม.จะช่วยในการสื่อสารและจัดการเรียนรู้ด้านสุขภาพเพื่อประโยชน์ของเพื่อนนักเรียนในโรงเรียนและชุมชนด้วย

         (วันนี้ 3 มิถุนายน 2556) ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร(ไทย-ญี่ปุ่น) นายแพทย์ชลน่าน  ศรีแก้วรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์  อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ  เปิดอบรมหลักสูตรยุวอาสาสมัครสาธารณสุขหรือยุวอสม. ประจำปี 2556  ซึ่งเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาจำนวน 9,514 คน รวมทั้งครูสอนสุขศึกษา อนามัย และพลศึกษาจากโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการจำนวน 174 แห่ง  เพื่อพัฒนาให้เป็นต้นแบบสุขภาพ  เป็นนักจัดการสุขภาพในโรงเรียน พร้อมทั้งเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพให้กับเพื่อนนักเรียนเยาวชน ส่งเสริมให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนสุขภาพดี     

           นายแพทย์ชลน่านกล่าวว่า  ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน ได้รับการดูแลและส่งเสริมสุขภาพทั้งร่างกาย จิตใจ ให้เยาวชนมีศักยภาพ มีสมรรถภาพในการเรียนการศึกษาอย่างเต็มที่ ซึ่งปัญหาสุขภาพของเยาวชนไทยในยุคปัจจุบันมีความเสี่ยงเจ็บป่วยในหลายเรื่อง และมีแนวโน้มรุนแรงกว่าในอดีต ผลสำรวจในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-29 ปี ล่าสุดในปี 2552 พบว่าอยู่ในเกณฑ์น่าห่วงเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.พฤติกรรมใช้ยาไม่ถูกต้อง พบว่าวัยรุ่นกินยาลดความอ้วนร้อยละ 5  กินยานอนหลับเป็นประจำเกือบร้อยละ 2 ทั้งที่มีและไม่มีอาการเครียดก็ตาม  2.พฤติกรรมการใช้สารเสพติด พบว่านักเรียนชายเริ่มสูบบุหรี่อายุ 16 ปี  เริ่มดื่มเหล้าเมื่ออายุเฉลี่ย 16.2 ปี  ส่วนนักเรียนหญิงเริ่มสูบบุหรี่อายุเฉลี่ย 16.7 ปี  เริ่มดื่มเหล้าอายุเฉลี่ย 17.8 ปี  ซึ่ง 2 เรื่องนี้จะนำไปสู่สิ่งเสพติดอื่นๆหรือพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศง่ายขึ้น

            3.พฤติกรรมการกินอาหาร พบว่าวัยรุ่นไม่กินอาหารเช้าซึ่งเป็นมื้อสำคัญที่สุดมากถึงร้อยละ 65   และกินอาหารไม่ครบ 3 มื้อมากที่สุดถึงร้อยละ 72  ซึ่งพฤติกรรมนี้เพิ่มความเสี่ยงให้วัยรุ่นอ้วน จากการกินจุบกินจิบอาหารอื่น  ผลสำรวจในปี 2551 พบนักเรียนระดับมัธยมเป็นโรคอ้วนแล้ว 1.4 ล้านคน  อีกร้อยละ 10  มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน  เมื่อเด็กกลุ่มนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าเด็กปกติ  และ 4 . การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร พบว่าเกิดในวัยรุ่นมากถึง 1 ใน 10  จึงจำเป็นต้องเร่งแก้ไขป้องกัน ปลูกฝังความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพให้ถูกต้อง                                                  

          นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า  ได้มอบนโยบายให้กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เร่งสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ โดยพัฒนาให้เป็นยุวอสม.ในโรงเรียน ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพขั้นต้นในโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศ  คล้ายกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และจะพัฒนาให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านตามความสนใจของเยาวชน เช่นการป้องกันยาเสพติด  การเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหาร หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตต่อไป  มั่นใจว่าจะช่วยแก้ปัญหาในเยาวชนและป้องกันปัญหาสุขภาพในอนาคต  เนื่องจากเยาวชนส่วนใหญ่หากมีปัญหามักจะปรึกษาเพื่อนมากกว่าผู้ปกครอง และโครงการยุวอสม.นี้ จะช่วยป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของไทย เช่นเบาหวาน ให้บรรลุผลสำเร็จง่ายขึ้น 

           ทางด้านนาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์  อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ  กล่าวว่า หลักสูตรในการอบรมยุวอสม.นี้ เป็นหลักสูตรระยะสั้น 1 วัน โดยอบรมให้มีทักษะและความฉลาดทางสุขภาพ รู้เท่าทัน 6 เรื่องได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์สุขภาพและการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างปลอดภัย เช่น เครื่องสำอาง ยาลดความอ้วน 2. ยาเสพติด  3. อาหาร 4.สุขภาพจิต 5. การปฐมพยาบาลและการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน และ6.การสื่อสารสุขภาพ เพื่อให้ยุวอสม.ถ่ายทอดความรู้เรื่องโรคภัยและวิธีการป้องกันต่างๆไปสู่ผู้อื่น หลังจากผ่านการอบรมแล้วจะได้รับประกาศนียบัตรรับรอง  และยุวอสม.เหล่านี้จะถือเป็นต้นแบบด้านสุขภาพของนักเรียน เป็นผู้ช่วยเหลือ จัดบริการสุขภาพร่วมกับครู อาจารย์  โดยจะเป็นนักจัดกิจกรรมสุขภาพในโรงเรียน รวมทั้งเป็นผู้เชื่อมต่อประสานความร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆในชุมชนเช่น อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข  ซึ่งจะทำให้ระบบสุขภาพในโรงเรียนเข้มแข็ง และขยายผลถึงครอบครัวและชุมชนของยุวอสม.ด้วย  โดยให้ครู-อาจารย์เป็นที่ปรึกษา  ยุวอสม. 1 คน ดูแล 1 ห้องเรียน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีแผนจะขยายอบรมรุ่นต่อไปอีกประมาณ 10,000 คน และอาจขยายผลอบรมเด็กระดับประถมศึกษาด้วย  เพื่อปลูกฝังวินัยการดูแลสุขภาพให้เป็นนิสัยตั้งแต่เด็ก ติดตัวตลอดชีวิต  

**************************************** 3 มิถุนายน 2556

 



   
   


View 19    03/06/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ