รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้กรมควบคุมโรคออกประกาศแนะนำการป้องกันโรคฤดูฝนที่พบบ่อย 17 โรค เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม ไข้เลือดออก มาลาเรีย ฉี่หนู  มือเท้าปาก เป็นต้น เผยตลอดฤดูฝนในปี 2555 ทั่วประเทศพบป่วยเกือบ 9 แสนคน เสียชีวิต 764 คน อันดับ 1 จากโรคปอดบวม ไข้เลือดออก โรคฉี่หนู และกินเห็ดพิษ แนะนำประชาชนออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาความอบอุ่นร่างกายเพื่อเพิ่มภูมิต้านทานโรค และป้องกันโรคด้วยสุขอนามัยที่ดี กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ฟรี ที่รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
 
นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม อากาศมีความชื้นสูง และอาจเกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันได้ ทำให้เชื้อโรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว รวมทั้งยังมีปัญหาประชาชนกินเห็ดพิษ หรือสัตว์มีพิษหนีน้ำ เช่นงู ตะขาบ แมงป่อง ได้ให้กรมควบคุมโรค ออกประกาศเรื่องการป้องกันโรคในฤดูฝน ส่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน ในการดูแลสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วย และได้เน้นย้ำให้โรงพยาบาลทุกแห่ง ให้ความสำคัญในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมรุนแรง เพื่อเฝ้าระวังโรคติดต่อจากเชื้อโคโรน่าไวรัส และไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 และเอช 5 เอ็น 1 ขอให้แพทย์ตรวจคัดกรองและซักประวัติของผู้ป่วยโดยละเอียด แม้ว่าในไทยจะยังไม่พบผู้ป่วยก็ตาม 
 
ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคที่มักมาพร้อมฤดูฝนและน้ำท่วมที่พบบ่อยมี 5 กลุ่ม รวม 17 โรค ได้แก่ 1.กลุ่มโรคทางเดินหายใจ ที่พบบ่อย 5 โรค ได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียในอากาศ ติดต่อกันง่ายทางการไอจาม โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่นผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ หากป่วยเป็นปอดบวมอาจเสียชีวิตได้ โดยจะมีอาการที่สังเกตได้คือมีไข้สูง หายใจเร็ว หรือเหนื่อยหอบ 2.โรคติดต่อทางน้ำและอาหาร ที่พบบ่อยคือการกินเห็ดพิษที่ในช่วงหน้าฝนจะขึ้นเองตามธรรมชาติในป่า และอาจเกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ทำให้มีความเสี่ยงที่ประชาชนจะบริโภคน้ำดื่มหรือกินอาหารที่ไม่สะอาดหรือมีเชื้อโรคปนเปื้อน ทำให้เกิดโรคทางเดินอาหาร เช่น โรคท้องเดินหรืออุจจาระร่วง อหิวาตกโรค บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ เป็นต้น 
 
3.โรคที่เกิดจากยุงและสัตว์ต่างๆ มี 4 โรคที่พบบ่อย คือไข้เลือดออกจากเชื้อไวรัสในยุงลายตามบ้านและบริเวณบ้าน โรคมาลาเรียซึ่งมียุงก้นปล่องที่อาศัยอยู่ในป่ากัด โรคไข้สมองอักเสบ เจ อี (Japanese Encephalitis) เกิดจากถูกยุงรำคาญซึ่งมักอยู่ในแหล่งน้ำในทุ่งนากัด และโรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคไข้ฉี่หนู ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในฉี่หนู สุนัข โค กระบือ และสัตว์ฟันแทะต่างๆ เชื้อจะปะปนในดินโคลนที่ชื้นแฉะ ทั้ง 4 โรคจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะมาก โดยโรคฉี่หนูจะมีอาการเด่นคือ ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่องและโคนขาอย่างรุนแรง ตาแดง 4.โรคที่เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น โรคมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัสคอกซากีไวรัส เอนเทอโรไวรัส ซึ่งพบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีได้ประปรายทั้งปี แต่จะเพิ่มมากขึ้นในฤดูฝน โดยเฉพาะในศูนย์เด็กเล็กต่างๆ และ 5.โรคที่มักเกิดในภาวะน้ำท่วมมี 2 โรค ได้แก่ โรคตาแดงจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรกเข้าตา โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา จากการทำงานที่ต้องลุยในน้ำสกปรกนานๆ หรือเดินลุยน้ำท่วมขังในช่วงที่มีฝนตก ใส่รองเท้าอับชื้น และถูกสัตว์มีพิษกัด เช่น งู ตะขาบ แมงป่องที่หนีน้ำมาอาศัยในบ้านเรือน                       
 
ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วงฤดูฝนในปี 2555 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม–ตุลาคม พบผู้ป่วยจาก 17 โรคที่กล่าวมารวม 880,146 คน มากที่สุดคือโรคปอดบวม 108,381 คน ไข้หวัดใหญ่ 46,754 คน ไข้เลือดออก 44,167 คน และโรคมือเท้าปาก 33,093 คน เสียชีวิต 764 คน โดยเสียชีวิตจากปอดบวมมากที่สุด 623 คน ไข้เลือดออก 59 คน ไข้ฉี่หนู 31 คน กินเห็ดพิษ 23 คน มาลาเรีย 12 คน  
 
ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการป้องกันโรคในฤดูฝน ขอให้ประชาชนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอเพื่อสร้างภูมิต้านทานโรค หากเปียกฝนขอให้อาบน้ำ สระผม เช็ดให้แห้ง และสวมเสื้อผ้าที่แห้ง ล้างมือล้างเท้าให้สะอาดหลังลุยน้ำย่ำโคลน หรือสวมรองเท้าบู๊ท หลีกเลี่ยงการเดินในพื้นที่ชื้นแฉะ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสัตว์เพื่อป้องกันโรคฉี่หนู อย่าให้ยุงกัดโดยนอนในมุ้งหรือทายากันยุง ทำลายลูกน้ำยุงตามภาชนะเก็บกักน้ำในบ้านและรอบบ้าน ตัดตอนไม่ให้ลูกน้ำกลายเป็นตัวยุง ทายากันยุงเช่นโลชั่นตะไคร้หอม เพื่อป้องกันยุงกัด รวมทั้งสวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อนๆ ซึ่งเป็นสีที่ยุงไม่ชอบ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ที่เป็นไข้หวัด ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ และดูแลบ้านเรือนให้สะอาด ไม่ให้เป็นที่อาศัยของสัตว์นำโรคและสัตว์มีพิษที่หนีน้ำมาอาศัยในบ้าน ประการสำคัญขอให้ยึดหลักปลอดภัยคือกินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือก่อนกินอาหารและหลังจากใช้ห้องน้ำ  จะป้องกันได้หลายโรค 
 
ทั้งนี้ หากป่วยเป็นไข้หวัดขอให้พักรักษาตัวที่บ้านจนกว่าจะหาย สวมหน้ากากอนามัย ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือทิชชูปิดจมูกและปากเวลาไอจาม หากมีไข้สูง เช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไข้ยังไม่ลดลงภายใน 2 วัน ขอให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกต้อง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเช่น เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรไปรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ฟรี  หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 
 
มิถุนายน/5-6   **************************************  2 มิถุนายน 2556
 
 
 
 


   
   


View 21    02/06/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ