กระทรวงสาธารณสุข ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ อสม.นครบาลจำนวน 7,000 คนเพื่อทำงานเชิงรุก ทำหน้าที่เชื่อมราษฎร์ ประสานรัฐ ขจัดภัยสุขภาพ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ช่วยสร้างความเข้มแข็งระบบการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานในเขตเมืองหลวง
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการจัดระบบการดูแลสุขภาพประชาชน ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสนับสนุนให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ในการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย และสามารถพึ่งตนเองขั้นต้นได้ ซึ่งในรอบกว่า 30 ปี ประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการส่งเสริมพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ซึ่งดำเนินการใน 76 จังหวัด จนถึงขณะนี้มี อสม.ดูแลหมู่บ้านชุมชนต่างๆ รวม 1 ล้านกว่าคน เฉลี่ย 1 คนดูแล 10-15 หลังคาเรือน เป็นแกนนำชุมชนทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้เป็นอย่างดี ได้รับการยอมรับด้านศักยภาพ ทั้งจากชาวบ้านและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองหลวงและเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ประชากรมากกว่า 5 ล้านคน เป็นแหล่งรวมของระบบริการสุขภาพในระบบบริการตติยภูมิ หรือระดับสูงที่มีประสิทธิภาพ มีชื่อเสียงที่ดีอยู่แล้ว แต่บริการขั้นพื้นฐานหรือระบบริการปฐมภูมิของคนเมืองหลวง พัฒนาตามไม่ทัน การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการสุขภาพ และพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพยังไม่สูงนักเนื่องจากสภาพสังคมเป็นชนิดต่างคนต่างอยู่ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับกับกรุงเทพมหานคร วางกลยุทธ์ในการพัฒนา โดยสร้างอาสาสมัครสาธารณสุขนครบาล หรืออสม.นครบาลขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่ง ทำหน้าที่เชื่อมราษฎร์ ประสานรัฐ ขจัดภัยสุขภาพ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชน เหมือนกับ อสม.ทั่วๆไป เป็นที่พึ่งสุขภาพขั้นต้นของประชาชนในเมืองหลวง ทำงานประสานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานครและ ภาครัฐอื่นๆ โดยได้มอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ดำเนินการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพ อสม.นครบาล ในการดูแลส่งเสริมสุขภาพและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพในชุมชน เพื่อให้ชุมชนและประชาชนยืนอยู่บนพื้นฐานการพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพ
ด้านนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในการพัฒนาศักยภาพ อสม.นครบาล ได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ ปี 2555 จำนวน 5 รุ่น มีผู้ผ่านการพัฒนาขีดความสามารถ 4,433 คน กระจายกันปฏิบัติงานในพื้นที่ 50 เขตของกรุงเทพมหานคร พบว่าได้ผลดี ในปี 2556 นี้จัดอบรมเพิ่ม อีก 2 รุ่น รวม 2,000 คนในเดือนพฤษภาคมนี้ ขณะเดียวกัน จะเพิ่มพูนความรู้เพื่อให้เป็น อสม.เชี่ยวชาญ เพื่อให้สามารถทำงานได้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในชุมชนที่ดูแล รวมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นในระบบการควบคุมป้องกันโรคติดต่ออื่นๆ รวม 6 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ สาขาการส่งเสริมสุขภาพและสิ่งแวดล้อม สาขาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน สาขาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สาขาหลักประกันสุขภาพ และสาขาการจัดการสุขภาพ ซึ่งจะช่วยให้ระบบการบริการสาธารณสุขในเขตเมืองหลวงมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น และกระจายครอบคลุมทุกชุมชน
พฤษภาคม7/7 ******************************************** 30 พฤษภาคม 2556
View 17
30/05/2556
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ