รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ เตรียมยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการติดต่อระหว่างผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยาสูบกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องมีมาตรฐานเดียวกัน โปร่งใส  ไร้การแทรกแซง

         วันนี้ (16 พฤษภาคม 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2556 ว่า ในที่ประชุมวันนี้  มีการหารือคณะกรรมการฯ ในการยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการติดต่อระหว่างผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยาสูบกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. ....  ซึ่งผู้ประกอบการหมายถึง ผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้นำเข้า หรือผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยาสูบ   ส่วนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้แก่ ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากบุหรี่ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น สมาคมหรือชมรมผู้เพาะปลูกใบยาสูบ สมาคมหรือชมรมผู้ค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบ ผู้ประกอบการกิจการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นต้น   ทั้งนี้เพื่อให้การติดต่อประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ประกอบการดังกล่าว เช่น การแจ้งรายการส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบ การขอรับหนังสือรับรองการแจ้งรายการส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นต้น กระทำได้เท่าที่จำเป็นเฉพาะการปฏิบัติการตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือมาตรการอื่นใดตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบเท่านั้น 

            นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า ในการยกร่างระเบียบสำนักนายกฯครั้งนี้ จะใช้แนวทางในการปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกมาตรา 5.3 และระเบียบกรมควบคุมโรค พ.ศ.2555 ว่าด้วยการติดต่อกับผู้ประกอบการและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยาสูบเป็นต้นแบบ เนื่องจากระเบียบของกรมควบคุมโรคที่ใช้ในปัจจุบันใช้แค่ในระดับกรมเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมหน่วยงานอื่น ซึ่งร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้  จะเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกกระทรวง ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และเกิดความโปร่งใสมีประสิทธิภาพมากที่สุด ป้องกันการแทรกแซงนโยบายการควบคุมยาสูบของรัฐด้วย โดยที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะทำงานยกร่างฯ ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องและภาคประชาชน และเสนอร่างต่อที่ประชุมคณะกรรมการฯต่อไป

          ทั้งนี้ มาตรการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านยาสูบ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2555  ได้กำหนดให้หน่วยงานราชการกำหนดนโยบาย หรือระเบียบปฏิบัติภายในหน่วยงาน เพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายการควบคุมยาสูบของรัฐจากอุตสาหกรรมยาสูบ ตามแนวทางของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกมาตรา 5.3  ที่เสนอแนวทางปฏิบัติ 8 ประการได้แก่ 1.สร้างความตื่นตัวถึงอันตรายของผลิตภัณฑ์ยาสูบ 2.กำหนดมาตรการเพื่อจำกัดการติดต่อประสานงานกับอุตสาหกรรมยาสูบและเน้นความโปร่งใส 3.ปฏิเสธความร่วมมือใดๆกับอุตสาหกรรมยาสูบ ข้อตกลงที่ไม่มีข้อผูกมัดตามกฎหมาย หรือข้อตกลงที่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง 4.หลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ 5.กำหนดให้ข้อมูลที่ได้รับจากอุตสาหกรรมยาสูบต้องโปร่งใสและถูกต้อง 6.ไม่ยอมรับหรือออกระเบียบควบคุมกิจกรรมที่อุตสาหกรรมยาสูบอ้างว่าเป็นกิจกรรมที่แสดงความรับผิดชอบทางสังคมของภาคธุรกิจ 7.ห้ามให้สิทธิพิเศษใดๆแก่อุตสาหกรรมยาสูบ และ8.ให้ปฏิบัติต่ออุตสาหกรรมยาสูบของรัฐในลักษณะเดียวกันกับที่ปฏิบัติต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ

******************************* 16 พฤษภาคม 2556



   
   


View 8    16/05/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ