รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  สั่งสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดเฝ้าระวังโรคทางเดินหายใจจาก 3 ไวรัสอันตราย ได้แก่ ไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 สายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 และโคโรนาไวรัส 2012  เน้นเครือข่ายทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อม ซ้อมแผนฯ และเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ 4 กลุ่มเสี่ยง  เช่น เดินทางกลับจากต่างประเทศ ผลการเฝ้าระวังจนถึงขณะนี้ยังไม่พบสัญญาณผิดปกติใดๆ เน้นย้ำประชาชนทุกคนขอให้ยึดหลักความสะอาด ล้างมือบ่อยๆ กินอาหารสุก สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเป็นไข้หวัด หลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีกทุกชนิด และออกกำลังกายทุกวัน เสริมความแข็งแกร่งระบบภูมิต้านทานโรคในตัว เนื่องจากทั้ง 3 โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนฉีดป้องกัน

          นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคทางเดินหายใจรุนแรงที่เกิดจากเชื้อไวรัส 3 ชนิด  ได้แก่ ไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่เอช 7 เอ็น 9 (H7N9) ไข้หวัดนกสายพันธุ์เดิมคือ เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) และโคโรนาไวรัส 2012 (Coronavirus 2012) ว่า แม้ว่า ประเทศไทยจะไม่พบผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสทั้ง 3 ชนิดในประเทศก็ตาม แต่ไทยได้จัดให้ 3 โรคนี้มีความสำคัญในระดับสูง และจะยึดแนวทางปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความปลอดภัย และความมั่นใจแก่ประชาชนทุกคน ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ โดยเน้นความเข้มแข็งของระบบการเฝ้าระวังโรคในระดับพื้นที่ ดำเนินการทั้งในผู้ป่วย ในสัตว์ปีกทุกชนิดทั้งสัตว์ปีกเลี้ยงและในธรรมชาติ เป็นทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช  และในโรงพยาบาล 

          ขณะนี้ ได้สั่งการนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกระดับ รวมทั้งประสานโรงพยาบาลเอกชนให้เตรียมความพร้อม จัดให้มีการซ้อมแผนรับมือ และเน้นการเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยปอดบวมทุกราย ให้ซักประวัติ 1.การเดินทางจากต่างประเทศ 2.ประวัติบุคคลอื่นในครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดที่มีอาการปอดบวม 3.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 4.ประวัติสัมผัสสัตว์ปีก โดยเน้นย้ำพิเศษแม้ไม่มีประวัติดังกล่าว แต่ถ้าหาสาเหตุไม่ได้ก็ให้ถือว่าต้องรายงานเพื่อสอบสวนโรคและเก็บตัวอย่างส่งตรวจอย่างละเอียดทั้ง 3 โรคดังกล่าว ปัจจุบันห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และมหาวิทยาลัย ภายใต้เครือข่ายยุทธศาสตร์โรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ มีศักยภาพสามารถตรวจยืนยันได้ และมีความร่วมมือกันอย่างดี

           ทางด้านนายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการติดตามเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ทั่วประเทศปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -1 พฤษภาคม 2556 พบผู้ป่วย 18,005 ราย ไม่มีเสียชีวิต ผลการตรวจเชื้อพบเป็นเชื้อตามฤดูกาล ส่วนผู้ป่วยโรคปอดบวมทั่วประเทศมีรายงาน 60,376 ราย เสียชีวิต 303 ราย แนวโน้มการป่วยทั้ง 2 โรคลดลงเมื่อเทียบปีที่ผ่านมา ผลการตรวจเชื้อไม่พบเชื้อไวรัสทั้ง 3 ชนิด

          ในการป้องกันโรคดังกล่าว ทั่วโลกยังไม่มีวัคซีนฉีดป้องกัน แต่โรคไข้หวัดนกทั้งสองสายพันธุ์เป็นโรคที่มียารักษา ผู้ที่มีอาการป่วยเป็นคล้ายไข้หวัดใหญ่ภายหลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ ได้แก่ ไข้สูง ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย  ขอให้รีบไปพบแพทย์เพื่อการดูแลที่ถูกต้องและป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ระบาด ประชาชนทุกคนควรดูแลป้องกันตัวเองด้วยการล้างมือฟอกด้วยสบู่บ่อยๆ การล้างมือจะช่วยกำจัดเชื้อโรคที่ติดอยู่ตามฝ่ามือ ซอกนิ้ว ซอกเล็บลงได้ประมาณร้อยละ 80 การกินอาหารที่ปรุงสุกแล้ว โดยเฉพาะสัตว์ปีกและไข่  สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเป็นไข้หวัด เพื่อช่วยลดการแพร่เชื้อสู่คนอื่นรวมทั้งขอให้พักผ่อนที่บ้านจนกว่าจะหาย นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก โดยเฉพาะเด็กๆ ขอให้ผู้ปกครองเพิ่มความระมัดระวัง ​ส่วนในกลุ่มของผู้ทำงานสัมผัสสัตว์ปีก เช่น  ผู้เลี้ยง ผู้ขนส่ง ชำแหละและจำหน่ายสัตว์ปีก ขอให้ปฏิบัติตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ประการสำคัญจะต้องไม่นำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตามมาชำแหละขายหรือรับประทานอย่างเด็ดขาดควรหลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีกทุกชนิด

                ทางด้านนายแพทย์รุ่งเรือง  กิจผาติ  ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค  กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรง ได้แก่ เชื้อโคโรนาไวรัส 2012 องค์การอนามัยโลกรายงานตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน  2555- 8พฤษภาคม  2556 พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ 30 ราย เสียชีวิต 18 ราย ใน 5 ประเทศ คือจอร์แดน การ์ตา ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และอังกฤษ  องค์การอนามัยโลกได้ให้ทุกประเทศเฝ้าระวังโรคเป็นพิเศษในกลุ่มผู้ป่วยปอดบวมที่หาสาเหตุไม่ได้ชัดเจน ไม่ได้มีข้อแนะนำจำกัดหรือข้อห้ามการเดินทาง ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศหากมีอาการไม่สบาย ให้รีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง ขณะเดียวกัน ขณะนี้มีรายงานเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ของโปรเมด ว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสชนิดนี้อีก 1 รายที่ประเทศฝรั่งเศส

                สำหรับสถานการณ์ของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ เอช 7 เอ็น 9 องค์การอนามัยโลกรายงานยังคงพบในจีนและไต้หวัน ยอดจนถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2556 มีผู้ป่วยยืนยันทั้งหมด 130 ราย เสียชีวิต 31 ราย ยังไม่พบหลักฐานการติดเชื้อจากคนสู่คน ส่วนไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช 5 เอ็น 1 ที่มีรายงานตั้งแต่พ.ศ. 2546 ยังคงมีรายงานทุกปี จำนวนรวมจนถึงวันที่ 12 มีนาคม 2556 มีผู้ป่วยทั่วโลก 622 ราย เสียชีวิต 371 ราย ใน 15 ประเทศ ในปี 2556 นี้มีรายงานผู้ป่วย 12 ราย เสียชีวิต 11 ราย ใน 3 ประเทศ ได้แก่ อียิปต์ จีน และกัมพูชา

  ***************************************   9  พฤษภาคม 2556



   
   


View 15    09/05/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ