ทั่วโลกลงมติยอมรับกรอบข้อตกลงการแบ่งปันเชื้อไวรัสไข้หวัดนก เพื่อนำมาผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ สามารถคลายปมอินโดไม่ส่งเชื้อไวรัสได้สำเร็จ โดยจะมีการประชุมรายละเอียดต่อในเดือนกรกฎาคม 2550 ที่ประเทศไทย ความสำเร็จครั้งนี้มาจากผลแห่งการทำหน้าที่ประธานการประชุมของนักวิชาการกระทรวงสาธารณสุขไทย นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลสรุปของการเตรียมการรับมือการระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่เกิดจากจากเชื้อไข้หวัดนกว่า ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 60 มีเรื่องสำคัญเข้าสู่ที่ประชุมคือเรื่องของการแบ่งปันเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในคน ซึ่งมีความเห็นต่างออกไป 2 ขั้ว คือขั้วของประเทศกำลังพัฒนาบางกลุ่ม โดยเฉพาะอินโดนีเซีย อิหร่าน เวียตนาม อิยิปต์ ต้องการให้มีความชัดเจนว่าเมื่อส่งเชื้อไวรัสไข้หวัดนกไปแล้ว จะต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนหลังจากที่มีการผลิตวัคซีน มิฉะนั้นจะระงับการส่งเชื้อไวรัสไว้ก่อน ส่วนอีกขั้วหนึ่งเป็นฝ่ายตะวันตกซึ่งนำโดยสหรัฐเอมริกา มีความกังวลอย่างเดียวว่าจะไม่ได้เชื้อไวรัส จึงพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อจะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาส่งเชื้อไวรัสให้ โดยทั้ง 2 ขั้วนี้ ต้องการดึงประเทศไทยให้ไปสนับสนุน ซึ่งในที่สุดประเทศไทยตัดสินใจว่าการแบ่งปันอย่างสุดโต่งดังกล่าวไม่เหมาะสม เพราะการที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องส่งเชื้อไวรัสให้เฉยๆ และหากมีการทำวิจัยและนำไปจดสิทธิบัตรหรือทำวัคซีนขายราคาแพง ก็ไม่ถูกต้อง ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาเรียกร้องหวงไวรัส ไม่แบ่งปันให้ใคร ซึ่งหากเกิดโรคระบาด และไม่มีวัคซีน ก็จะเกิดการเสียชีวิตกันมาก จึงต้องหาวิธีการเพื่อเป็นทางออกที่เหมาะสมในการแบ่งปันเชื้อไวรัสไข้หวัดนกที่สมประโยชน์ ทั้งประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนา นายแพทย์มงคลกล่าวตอไปว่า การวางท่าทีของไทยเช่นนี้ จึงได้รับความไว้วางใจจากทั้ง 2 ขั้ว ขอให้ไทยเป็นประธานคณะทำงานในการร่างมติในเรื่องดังกล่าว โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้นายแพทย์วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เป็นผู้แทนของไทยทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม และทำงานหนักมาก ประชุมกัน 10 กว่าครั้งทั้งกลางวันกลางคืน จนในที่สุดได้มติกรอบข้อตกลงการแบ่งปันเชื้อไวรัสไข้หวัดนกเป็นผลสำเร็จ ทุกฝ่ายพอใจ โดยให้ยึดความโปร่งใส มีระบบการตรวจสอบหลังส่งเชื้อไวรัสว่าไม่ได้เอาไปทำการค้า หากมีการทำการค้าเกิดขึ้นผลประโยชน์จะต้องปันมาสู่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเป็นธรรม มติดังกล่าวเพื่อทำให้กระบวนการแบ่งปันไวรัสดำเนินการต่อเนื่องไปได้ เพราะมิฉะนั้นประเทศอินโดนีเซียจะไม่ส่งเชื้อไวรัสให้ ทั้งนี้จะมีการจัดทำรายละเอียดต่อเนื่องอีก โดยจะมีการประชุมในประเทศไทย อาจจะในเดือนกรกฎาคม หรือสิงหาคม 2550 และประชุมที่เจนีวาต่อในเดือนตุลาคม 2550 เพื่อลงรายละเอียดทั้งหมด เป็นการจัดวางระบบการแบ่งปันเชื้อไวรัสขึ้นมาใหม่ ที่สำคัญก็คือต้องมีกลไกเข้าไปควบคุมตรวจสอบหน่วยงานที่ทำงานเรื่องนี้ทั้งหมด ว่ามีความโปร่งใส ไม่เอาไวรัสไปแบ่งให้เอกชน เอาทำธุรกิจวัคซีน จดสิทธิบัตร แล้วขายแพง ความสำเร็จครั้งนี้ แพทย์หญิงมากาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้ส่งอีเมล์ชื่นชมยกย่องบทบาทของประเทศไทยเป็นอันมาก และเห็นว่าไทยเป็นแบบอย่างของการสร้างคนรุ่นใหม่ ในการทำหน้าที่สำคัญระดับโลก นายแพทย์มงคลกล่าว ***************** 27 พฤษภาคม 2550


   
   


View 3       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ