สธ.เผย “อหิวาต์” จ.ตาก ควบคุมได้แล้ว ไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม ออก 6 มาตรการเข้มป้องกันช่วงสังสรรค์ปีใหม่
- สำนักสารนิเทศ
- 675 View
- อ่านต่อ
ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ ตะเกียงวิเศษรักษาโรค ชี้เป็นเพียง อโรมา เทอราปี คือการบำบัดรักษาโรคโดยใช้กลิ่นหอม ช่วยให้จิตใจสงบ คลายเครียดได้ แต่ยังไม่มีงานวิจัยในโลกรับรองสรรพคุณว่ารักษาโรคมะเร็งระยะสุดท้ายหายขาดได้ ไม่แนะนำให้จุดในมุ้งผู้ป่วย เนื่องจากจะทำให้ร่างกายได้รับอ๊อกซิเจนไม่เพียงพอ
จากที่มีข่าวการหลอกขายตะเกียงวิเศษให้แก่ประชาชนในพื้นที่อำเภอบรบือ และวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม โดยผู้ขายแจ้งสรรพคุณว่า เมื่อจุดแล้วนำไปไว้ในมุ้งเวลานอนแล้วให้สูดดมกลิ่น จะสามารถรักษาโรคภัยต่างๆให้หายได้ โดยขายในราคาชุดละ 10,000 บาท ลักษณะของตะเกียงวิเศษดังกล่าวประกอบด้วย กระป๋องสีชมพู-ทอง ฝาครอบสำหรับจุดไฟ น้ำยาสำหรับใส่ในตะเกียง และยังมีรายงานมีผู้ร้องเรียนไปยังเครือข่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จังหวัดมหาสารคามอีกว่ามีครูรายหนึ่งซื้อตะเกียงชนิดนี้ไปใช้ปรากฏว่าเสียชีวิตนั้น
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ วันนี้ (2 พฤษภาคม 2556) นายแพทย์อภิชัย มงคล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประจำพื้นที่เครือข่ายบริการที่ 7 ประจำจังหวัด ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ ให้สัมภาษณ์ว่า การหลอกขายตะเกียงวิเศษ มีข้อมูลปรากฏในพื้นที่หลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นขอนแก่น มหาสารคาม ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเร่งหาข้อมูลการเสียชีวิต และประสิทธิภาพของตะเกียงดังกล่าวว่าเกี่ยวข้องกันหรือไม่ เพื่อให้ข้อมูลข้อเท็จจริงแก่ประชาชนในการตัดสินใจซื้อมาใช้ เพื่อเป็นทางเลือกในการดูแลปัญหาการเจ็บป่วย คาดว่าจะทราบผล 1-2 วันนี้ จากที่ได้รับรายงานพบว่าผู้ที่ซื้อตะเกียงวิเศษไปใช้ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย และขายชนิดบอกกันปากต่อปาก
นายแพทย์อภิชัยกล่าวต่อว่า ตะเกียงวิเศษนี้ จัดเป็นการนำเอาหลักการของอะโรมา เทอราปี (AROMA THERAPY) หรือการบำบัดรักษาโรคโดยใช้กลิ่นหอม เป็นการแพทย์ทางเลือกชนิดหนึ่งใช้กันทั่วไป ไม่จำเพาะเจาะจง กลิ่นที่ได้จากน้ำยานี้จะช่วยกระตุ้นเปลี่ยนสภาพอารมณ์และจิตใจ ช่วยให้สงบ ผ่อนคลาย คลายเครียด ลดความกระวนกระวายใจ ฯลฯ แต่ยังไม่มีงานวิจัยในโลกที่พิสูจน์ยืนยันว่า สามารถรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายให้หายขาดได้ แต่กลิ่นที่สูดเข้าไปอาจจะช่วยให้ผู้ป่วยมีขวัญกำลังใจดีขึ้น
ประการสำคัญ หากมีการนำตะเกียงไปจุดในมุ้งเพื่อให้ได้กลิ่นหอม นอกจากจะเสี่ยงอันตรายจากอุบัติเหตุไฟไหม้แล้ว จะมีผลเสียต่อตัวผู้ป่วยมากขึ้น ทำให้ร่างกายได้รับก๊าซอ๊อกซิเจนไม่เพียงพอ นายแพทย์อภิชัยกล่าว
********************************** 2 พฤษภาคม 2556