สธ.เผย “อหิวาต์” จ.ตาก ควบคุมได้แล้ว ไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม ออก 6 มาตรการเข้มป้องกันช่วงสังสรรค์ปีใหม่
- สำนักสารนิเทศ
- 675 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออก 6 มาตรการความพร้อมรับมือไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ เตรียมเสนอมาตรการป้องกันโรคในคนต่อประชุมคณะกรรมการระดับชาติในวันพรุ่งนี้ พร้อมสั่งการกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เร่งเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่ฤดูฝน เตรียมการก่อนเปิดเทอมใหม่ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตให้มากที่สุด
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการการควบคุมป้องกันโรคว่า ที่เป็นปัญหาสำคัญขณะนี้มี 3 โรคคือไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่สายพันธุ์เอช7เอ็น9(H7N9)ไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่ ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ เร่งดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค เพิ่มประสิทธิภาพระบบการเฝ้าระวังทุกพื้นที่ โดยในวันพรุ่งนี้กระทรวงสาธารณสุขจะเสนอมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่สายพันธุ์เอช7เอ็น9ในคนต่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ พ.ศ.2556-2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช7เอ็น9 ล่าสุดพบผู้ป่วยใน 11 พื้นที่ของจีน ได้แก่ ฝูเจี้ยน เจียงซี หูหนาน เซี่ยงไฮ้ เจียงซู เจ้อเจียง อันฮุย เหอหนาน ปักกิ่ง ซานตง และไต้หวัน มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อทั้งสิ้น 126 ราย เสียชีวิต 24 ราย คิดเป็นร้อยละ 19 ของผู้ป่วยทั้งหมด กระทรวงสาธารณสุขไทยได้ตั้งวอร์รูม ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมยกระดับการเตรียมพร้อมจากระดับ 3 เป็นระดับ 4 ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เนื่องจากมีข้อมูลอาจจะมีการติดต่อคนสู่คนในวงจำกัดในรายที่สัมผัสผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ซึ่งประเทศไทยมีเวลาเตรียมการรับมือโรคนี้ก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงสภาพอากาศเหมาะสมเสี่ยงต่อการระบาดของโรคได้ง่าย อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ ไทยยังไม่พบเชื้อโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์นี้ ทั้งในคน สัตว์ นกธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ในการเตรียมความพร้อมรับมือกับไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมไว้ 6 มาตรการให้ทุกจังหวัดปฏิบัติแนวเดียวกัน ได้แก่ 1.ให้เฝ้าระวัง จับตาสัญญาณการระบาดในผู้ป่วย 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรง ผู้มีอาการปอดบวมหลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ ผู้ป่วยปอดบวมที่พบเป็นกลุ่มตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปในชุมชน และบุคลากรทางการแพทย์ที่ป่วยเป็นปอดบวม 2.การตรวจเฝ้าระวังตรวจจับเชื้อเอช7เอ็น9ทางห้องปฏิบัติการ ทั้งในกระทรวงสาธารณสุขและภาคมหาวิทยาลัย 3. การดูแลรักษาพยาบาล ใช้แนวทางการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ และการป้องกันการติดเชื้อตามมาตรฐานไข้หวัดนก 4.เพิ่มการให้ความรู้แก่ประชาชน เรื่องโอกาสการเกิดระบาด การรักษาพฤติกรรมสุขภาพดีเช่น ล้างมือ ผู้ป่วยไข้หวัดให้สวมหน้ากากอนามัยและหยุดพักผ่อนอยู่บ้าน หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ เนื่องจากมีข้อมูลทางวิชาการพบว่าสัตว์ปีกที่ติดเชื้อเอช7เอ็น9 ไม่มีอาการป่วย และไม่ตาย โดยให้ล้างมือหลังสัมผัสสัตว์ รวมทั้งไม่นำสัตว์ที่ป่วยตายผิดปกติมาขายและรับประทาน 5.เตรียมพร้อมยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ทั้งชนิดกินและฉีด และวัสดุอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย และ6.การเตรียมการตรวจคัดกรองบริเวณช่องทางเข้า-ออกประเทศ โดยไทยจะยึดปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัย ซึ่งขณะนี้แนะนำว่ายังไม่มีความจำเป็นในการคัดกรองพิเศษ
สำหรับโรคไข้เลือดออก ยังคงมีแนวโน้มพบผู้ป่วยต่อเนื่องและจะเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดโรคนี้ ในรอบ 15 สัปดาห์ของปี 2556 นี้ มีผู้ป่วย 24,272 ราย เสียชีวิต 28 ราย โดยจำนวนผู้ป่วยสูง 3 เท่าตัวของปี 2553 และ 4 เท่าตัวของปี 2555 ทีมผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าจะระบาดรุนแรงแน่นอนในปีนี้ โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนนี้ ขณะนี้พบผู้ป่วยทุกจังหวัด และจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความสำเร็จของการเอาชนะโรคนี้คือการกำจัด ลดจำนวนยุงลาย แต่จากผลการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลาย ผลปรากฎว่าขณะนี้สูงทุกจังหวัด ดังนั้นได้กำชับให้สาธารณสุขจังหวัดและสาธารณสุขอำเภอ ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรท้องถิ่นในการกำจัดลูกน้ำยุงลายต่อเนื่อง
ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า เดือนพฤษภาคมนี้ เป็นช่วงฤดูฝนและเป็นช่วงเปิดเทอม โรคที่พบได้บ่อยคือไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่ กลุ่มเด็กเมื่อมาอยู่รวมกัน หากเกิดโรค จะเกิดการระบาดติดต่อกันง่าย จึงได้กำชับเน้นย้ำให้ทุกจังหวัด เตรียมการควบคุมป้องกันโรคก่อนเปิดเทอมร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่ ดังนี้ 1.กำจัดขยะและภาชนะเหลือใช้ ที่จะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น กระป๋อง ยางรถยนต์ กล่องโฟม ให้หมดไป 2. ให้ขัดล้างทำความสะอาดภาชนะบรรจุน้ำเช่น แท็งค์น้ำ แจกัน ถาดรองน้ำตู้เย็น ซึ่งอาจมีไข่ลูกน้ำยุงลายเกาะอยู่ 3.ภาชนะบรรจุน้ำขนาดเล็ก เช่น ขารองตู้ ให้ใส่สารที่ฆ่าลูกน้ำยุงลายได้ เช่นเกลือแกง น้ำส้มสายชู 4.ทำความสะอาดพื้นผิวที่มีมือสัมผัสบ่อยและใช้ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ เพื่อลดการแพร่เชื้อจากมือเด็กป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ไปยังเด็กอื่น 5.ให้จัดหาเจลล้างมือ วางในจุดที่มีการใช้งานร่วมกัน เช่นห้องเรียนรวม หน้าลิฟท์ หน้าประตู เป็นต้น
6.จัดตั้งและสร้างกลุ่มเด็กอาสาสมัคร เพื่อเป็นแกนนำสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และแจ้งการป่วยเพื่อนนักเรียน 7.มีการคัดกรองหรือตรวจวัดไข้ในเด็กนักเรียน หากพบมีไข้ร่วมกับไอหรือเจ็บคอ ให้สวมหน้ากากอนามัย แต่หากมีไข้อย่างเดียว ไม่ไอ ให้สงสัยโรคไข้เลือดออก แนะนำให้ยาทากันยุง เพื่อป้องกันยุงกัด ลดการแพร่เชื้อสู่คนอื่น และส่งรักษาที่โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ 8.ควรปลูกตระไคร้หอม เพื่อใช้กันยุงในห้องเรียน และ9.จัดเตรียมความรู้เรื่องไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่ให้ครูอนามัยโรงเรียน เป็นคู่มือดูแลเด็กในโรงเรียน
********************************** 2 พฤษภาคม 2556