สาธารณสุข เร่งพัฒนาระบบการสร้างสุขภาพ ลดป่วย ควบคู่การบริการดูแลรักษาประชาชนที่เจ็บป่วยตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นรุนแรง หวังภายใน 5 ปีนี้ มีศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคจนหายขาดและอยู่ไม่ไกลบ้านใน 12 เครือข่ายบริการ โดยภาคเอกชนได้ให้การสนับสนุนนโยบาย ร่วมบริจาคที่ดิน อาคารศูนย์สุขภาพชุมชน อ.บ้านโป่ง พร้อมเครื่องมือแพทย์ 38 รายการ มูลค่า 20 ล้านบาท มอบให้โรงพยาบาลบ้านโป่งเพื่อจัดบริการประชาชน

        วันนี้ ( 29 เมษายน 2556 ) ที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองบ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี  นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รับมอบที่ดินและอาคารศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองบ้านโป่ง พร้อมอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ 38 รายการ จาก ดร.เสนาะ อูนากูล คณะกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของบริษัทเอสซีจี ในโอกาสเอสซีจีครบรอบ 100 ปี มูลค่ารวม 20 ล้านบาท เช่น เครื่องตรวจคลื่นความถี่สูง  เครื่องกระตุกหัวใจ เครื่องตรวจหู คอ ตา จมูก เครื่องพ่นละอองฝอยช่วยผู้ป่วยโรคหอบหืด เครื่องขูดหินน้ำลายไฟฟ้า วิทยุสื่อสาร เพื่อมอบให้โรงพยาบาลบ้านโป่ง สนับสนุนนโยบายการพัฒนาระบบบริการประชาชนของกระทรวงสาธารณสุข ลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ เพิ่มบริการเชิงรุกลงใกล้ชิดชุมชน โดยศูนย์สุขภาพชุมชนแห่งนี้ให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป บริการทันตกรรม การแพทย์แผนไทย ส่งเสริมสุขภาพและกายภาพบำบัด เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 เป็นต้นมา ดูแลประชากรในเขตเทศบาลบ้านโป่ง 26,518 คน       

        นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเร่งพัฒนาระบบริการทุกระดับ เพื่อให้ประชาชนทุกสิทธิการรักษาได้รับบริการอย่างมีประสิทธิภาพและอยู่ใกล้บ้านที่สุด จากการประเมินการใช้บริการในกลุ่มที่อยู่ในโครงการ 30 บาท ซึ่งมีกว่า  48 ล้านคนทั่วประเทศ พบว่าแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในปี 2553 มีผู้ใช้บริการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก 27 ล้านกว่าคน รวม 144 ล้านกว่าครั้ง และเพิ่มเป็น 32 ล้านกว่าคน รวม 167 ล้านกว่าครั้งในปีที่ผ่านมา แม้ว่าประชาชนจะเข้าถึงระบบบริการได้มากขึ้นก็ตาม สิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการควบคู่กันคือการลดจำนวนการป่วย โดยให้ทุกหน่วยบริการเพิ่มการสร้างสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม เช่นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง จะเพิ่มระบบการตรวจคัดกรอง  เพื่อการป้องกัน รวมทั้งตรวจหาโรคมะเร็ง  เช่นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม  

        ทั้งนี้ ตั้งแต่พ.ศ.2555-2559 ได้วางแผนพัฒนาประสิทธิภาพการดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยตั้งแต่เบื้องต้นขึ้นไปจนถึงเจ็บป่วยรุนแรงหรือมีความยุ่งยาก เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายบริการรวม  12 เครือข่ายทั่วประเทศ ดูแลประชากรเครือข่ายละ 5-6 จังหวัด เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งเป้าพัฒนาการเติบโตของโรงพยาบาลอย่างมีทิศทาง เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายบริการที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน จะทำให้ประชาชนได้รับบริการใกล้บ้านมาตรฐานเดียวกัน ตั้งเป้าภายใน 5 ปีนี้ จะมีศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคที่ยุ่งยากซับซ้อนและต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงในโรงพยาบาลศูนย์ที่อยู่ใน 12 เครือข่ายบริการใน 4 สาขาได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง อุบัติเหตุ และทารกแรกเกิด เพื่อรองรับการส่งต่อผู้ป่วยจากในพื้นที่และเครือข่าย และอยู่ไม่ไกลบ้าน 

        สำหรับการลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลใหญ่ในจังหวัด ได้เพิ่มศูนย์สุขภาพในชุมชนเขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่น ดำเนินการคล้ายโพลีคลินิก เป็นเครือข่ายบริการผู้ป่วยนอกของรพ.ศูนย์หรือรพ.ทั่วไป จัดแพทย์ พยาบาล พร้อมเครื่องมือ บริการตรวจรักษา สร้างสุขภาพในชุมชน ลดการเจ็บป่วย ขณะนี้ตั้งแล้ว 236 แห่ง จากการติดตามประเมินผลที่ อ.บ้านโป่ง พบว่าได้ผลดี ลดความแออัดที่รพ.บ้านโป่งปีละ 25,000 ราย ประชาชนพึงพอใจมากกว่าร้อยละ 85  เนื่องจากเดินทางสะดวก ใช้เวลารอไม่นาน ใช้ยาตัวเดียวกับโรงพยาบาลใหญ่

 *************************************  29 เมษายน 2556



   
   


View 18    29/04/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ