กระทรวงสาธารณสุขประชุมวอร์รูมไข้เลือดออก ย้ำสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง  ยอดป่วยสะสมรอบ 4 เดือนตั้งแต่มกราคม –เมษายน 2556 พุ่งกว่า 24,000 ราย เสียชีวิต 28 ราย ร้อยละ 60 เป็นนักเรียนประถมและมัธยม  และเหตุการเสียชีวิต 1 ใน 3 มาจากไปรักษาช้า  คาดจำนวนป่วยจะรุนแรงขึ้นตั้งแต่ช่วงเปิดเทอมเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม เพราะเป็นฤดูกาลระบาดโรคโรคนี้  แนะเข้มการกำจัดยุงลายทั้งในโรงเรียนและชุมชน เตรียมหารือกับผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานต้นเดือนหน้า  เพื่อลงแรงกำจัดยุงลายแถมการป้องกันไข้หวัดใหญ่ในฤดูฝนด้วย  

            นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2556 ว่า จากการประเมินสถานการณ์การเจ็บป่วยของที่ประชุมวอร์รูมแก้ไขป้องกันโรคไข้เลือดออกกระทรวงสาธารณสุข พบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงวันที่ 17 เมษายน 2556 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยสะสม 24,272 ราย เสียชีวิต 28 ราย ผู้เสียชีวิตร้อยละ 60 เป็นเด็กชั้นประถมและมัธยมศึกษา อายุ 6-12 ปี  จากการวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตพบว่าประมาณ 1 ใน 3 ไปรักษาตัวที่คลินิกก่อน เพราะเข้าใจว่าป่วยเป็นโรคอื่น  โดยมี 19 จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากกว่า 2 อำเภอติดต่อกัน 2 สัปดาห์ในช่วงวันที่ 7 – 20 เมษายน 2556 ได้แก่ นครราชสีมา  ร้อยเอ็ด  เลย  หนองบัวลำภู  นครพนม  กำแพงเพชร  พิจิตร  อุทัยธานี  พิษณุโลก  เพชรบูรณ์  เชียงราย  น่าน  แพร่  กระบี่  นครศรีธรรมราช  สุราษฎร์ธานี  ปัตตานี  สงขลา  และสกลนคร  ได้กำชับให้ผู้ตรวจราชการของกระทรวงสาธารณสุขที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ 19 จังหวัดดังกล่าว ติดตามแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

           ด้านนายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจของสำนักงานควบคุมป้องกันโรค พบว่า มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายได้ทั่วไป  ส่วนใหญ่จะอยู่นอกบ้านมากกว่าในบ้าน เช่น เศษขยะ กล่องโฟม โอ่งเก็บน้ำฝนขนาดใหญ่ไม่มีฝาปิด กระป๋อง ถ้วยน้ำหรือแก้วพลาสติกที่ทิ้งไม่เป็นที่เป็นทางและมีน้ำขัง  ยางรถยนต์เก่า เป็นต้น  ต้องเน้นย้ำให้ประชาชนทุกคนและเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ตระหนักและจริงจังในการกำจัดต้นตอของยุงลาย รวมถึงสอนให้เด็กๆลูกหลานทุกคนเข้าใจถึงอันตรายของไข้เลือดออก ใส่ใจถึงการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด และช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ไม่ให้ยุงได้มีโอกาสแพร่พันธุ์มากขึ้น

          นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ในวันที่ 2 พฤษภาคม นี้ คณะกรรมการวอร์รูมฯของกระทรวงสาธารณสุข จะประชุมหารือกับผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้เด็กนักเรียน  ทำให้โรงเรียนเป็นเขตปลอดยุงลาย  โดยจะเสนอให้ใช้ 9 แนวทางในการเตรียมพร้อมรับมือกับโรคไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่ในฤดูฝนด้วย  ก่อนที่โรงเรียนทุกแห่งจะเปิดเทอม ได้แก่ 1.กำจัดขยะ และภาชนะเหลือใช้ เช่น กระป๋อง ยางรถยนต์ กล่องโฟม ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง  2.ขัด-ล้างทำความสะอาดภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำเช่น แท๊งค์เก็บน้ำ แจกัน ถาดรองน้ำตู้เย็น ซึ่งอาจมีไข่ของยุงลายเกาะอยู่  3.ใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชูในภาชนะบรรจุน้ำขนาดเล็กเช่น ขารองตู้ เพราะมีสารที่ฆ่าลูกน้ำได้ 4.ทำความสะอาดพื้นผิวที่สัมผัสบ่อยๆได้แก่ ลูกบิดประตู ราวบันได แป้นคอมพิวเตอร์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดการแพร่เชื้อจากมือของเด็กที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ไปยังผู้อื่น  5.จัดหาเจลล้างมือไว้หน้าห้องเรียน หน้าลิฟท์  6.ตั้งกลุ่มเด็กอาสาสมัครเพื่อช่วยกันสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำ และแจ้งการป่วยของเพื่อนนักเรียน  7.ตรวจคัดกรองหรือวัดไข้เด็ก หากพบว่ามีไข้ ไอหรือเจ็บคอให้สวมหน้ากากอนามัย แต่หากมีไข้ 2 วันให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นไข้เลือดออก และให้ทายากันยุง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยหากถูกยุงกัดแล้วยุงไปกัดผู้อื่นอีก และให้รีบไปพบแพทย์ 8.ปลูกตะไคร้หอม เพื่อนำไปใช้กันยุงในห้องเรียน  และ 9.จัดเตรียมความรู้ให้ครูอนามัยเรื่องไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ และโรคมือเท้าปาก

           “ที่สำคัญคือหากเป็นไข้ ไม่มีอาการไอ ไม่มีน้ำมูก และไข้ไม่ลดลงภายใน 2 วัน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจเป็นไข้เลือดออก และให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที เพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกวิธีตั้งแต่เนิ่นๆ และป้องกันการสูญเสียชีวิต เนื่องจากผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกส่วนใหญ่ เมื่อเป็นไข้มักจะไปพบแพทย์ที่คลินิกหลายๆแห่งก่อน กว่าจะนำผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลก็ต่อเมื่อมีอาการรุนแรงมากขึ้น และสุดท้ายก็ช่วยชีวิตไว้ไม่ทัน” นายแพทย์ณรงค์กล่าว

***************************   28   เมษายน 2556



   
   


View 19    28/04/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ