จากกรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด  นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดเพื่อสนับสนุนการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) โดยจัดสรรงบประมาณให้จังหวัดดำเนินการจัดซื้อเอง และได้มีข้อกำชับดังนี้ 1.ขอให้ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยระเบียบพัสดุ 2.ให้พื้นที่ตั้งคณะกรรมการกำหนดสเปคที่เหมาะสม และตามความจำเป็นของพื้นที่ และ3.ขอให้รายงานผลการดำเนินการให้กระทรวงสาธารณสุขทราบ เพื่อความโปร่งใส เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2556

           นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ผู้บริหารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพมารับฟังข้อคิดเห็น และให้คำปรึกษา  แก่ผู้ตรวจราชการและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจากเขตบริการสุขภาพทั้ง 12 เขตบริการ เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา โดยขอให้กรมฯ ชี้แจงใน 3 ประเด็นดังนี้ 1.เหตุผลและความจำเป็นในการจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลให้อสม. 2.อสม.สามารถใช้เครื่องมือเจาะเลือดเพื่อตรวจน้ำตาลได้หรือไม่ และ3.ทุกจังหวัดต้องซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลหรือไม่ หากมีตัวเครื่องแล้วขอซื้อเฉพาะแถบตรวจน้ำตาลในเลือดได้หรือไม่ ทั้งนี้ ในระหว่างที่รอการชี้แจงจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ทุกจังหวัดระงับการจัดซื้อไปก่อน

              สำหรับจังหวัดที่ได้ดำเนินการหาผู้ขายแล้ว เช่นที่จังหวัดอำนาจเจริญ นายแพทย์ภาสกร ไชยเศรษฐนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ได้ให้ข้อคิดเห็นว่าการจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดให้อสม. คัดกรองหาผู้ป่วยเบาหวานนั้น เห็นว่าเป็นการพัฒนาศักยภาพ อสม.เป็นเรื่องที่ดี  การตรวจน้ำตาลในเลือดจากปลายนิ้วประชาชนบางส่วนทำเองอยู่แล้ว โดยสามารถซื้อเครื่องตรวจได้เองในท้องตลาด   การที่จะให้ อสม. ช่วยคัดกรองอีกทางหนึ่งจึงเป็นเรื่องที่น่าจะทำได้ แต่ขอให้มีระเบียบหรือกฎหมายที่คุ้มครองผู้ปฏิบัติงานด้วย  

           ส่วนการจัดซื้อเครื่องมือนั้น จังหวัดได้ดำเนินการจัดหาตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยระเบียบพัสดุ  และตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำชับให้ดำเนินการอย่างเคร่งครัด   โดยได้คำนึงถึงคุณภาพ ราคาสมเหตุผล และความคุ้มค่าในระยะยาวเป็นหลัก ส่วนที่กังวลว่าจะเป็นภาระในระยะยาวในการซื้อแถบตรวจระดับน้ำตาลในเลือดนั้น ตนมองว่าการตรวจน้ำตาลในเลือดเป็นสิ่งที่พื้นที่ต้องจำเป็นต้องทำในการดูแลสุขภาพประชาชน  เนื่องจากขณะนี้ประชาชนป่วยด้วยโรคเบาหวานมากขึ้น  จำเป็นต้องได้รับการคัดกรองเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ป้องกันโรคแทรกซ้อนอันตราย ซึ่งงบประมาณในการจัดซื้อแถบตรวจน้ำตาลนั้น ก็มาจากงบประมาณของรัฐบาลที่ใช้ในการดูแลสุขภาพประชาชนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมาจากงบค่าใช้จ่ายรายหัวหรืองบประมาณจากส่วนอื่นๆ หรือมาจากเงินบำรุงของสถานบริการเอง จึงไม่น่าจะเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นของสถานบริการ

****************************************** 25 เมษายน 2556



   
   


View 10    25/04/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ