รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วงปัญหาไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9  ที่ระบาดในจีน   สั่งสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดเฝ้าระวังโรค โดยเฉพาะช่วงหลังวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ร่วมกับปศุสัตว์ และกรมอุทยานแห่งชาติ  และให้โรงพยาบาลในพื้นที่เตรียมพร้อมดูแลผู้ป่วยทันที หากพบความผิดปกติในสัตว์

นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ของการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 (H7N9) ว่า จากการติดตามตรวจสอบข้อมูลความคืบหน้าล่าสุดจากศูนย์ป้องกันควบคุมโรค ประเทศจีน เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2556 มีรายงานผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ 63 ราย เสียชีวิต 14 ราย โดยผู้ป่วยกระจายใน 6 พื้นที่ ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ เจียงชู เจื้อเจียง อันฮุย เหอหนาน และปักกิ่ง   สถานการณ์ยังมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่ประชาชนชนไม่ต้องหวาดกลัว  เนื่องจากยังไม่พบหลักฐานว่ามีการติดต่อจากคนสู่คน   

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า  แม้ว่าไทยจะไม่เคยพบการติดเชื้อเอช 7 เอ็น 9 ในประเทศ ทั้งในสัตว์ปีกเลี้ยง สัตว์ปีกป่า และคนมาก่อน และไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เป็นต้นมาก็ตาม แต่เพื่อความไม่ประมาท และเนื่องจากในวันหยุดยาวฉลองเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา อาจมีประชาชนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ  ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ  โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ตามแนวชายแดนเฝ้าระวังโรค โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมรุนแรง  ดำเนินงานร่วมกับกรมปศุสัตว์ และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่เฝ้าระวังโรคในสัตว์ปีกเลี้ยงและนกธรรมชาติอย่างใกล้ชิด หากพบความผิดปกติในสัตว์  ให้โรงพยาบาลในพื้นที่เตรียมพร้อมการดูแลผู้ป่วยทันที  ประชาชนที่มีอาการไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกายหลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แจ้งประวัติการเดินทางแก่แพทย์ด้วย

ด้านนายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการเฝ้าระวังโรคในคน  และเพิ่มความไวในการตรวจจับการระบาดของโรคไข้หวัดนกทั้ง 2 สายพันธุ์ ให้เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งและเลือด จากผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงที่มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก หรือผู้ป่วยปอดบวมที่มีอาการรุนแรง หรือมีการดำเนินของโรคอย่างรวดเร็ว หรือไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรค เพื่อส่งตรวจหาเชื้อไข้หวัดนกทุกรายที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่ง จากผลการดำเนินการที่ผ่านมายังไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ ทั้งนี้ ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง แจ้งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทุกแห่งในพื้นที่ ให้ยึดแนวปฏิบัติในการตรวจคัดกรองและการดูแลผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า เนื่องจากข้อมูลองค์ความรู้ของเชื้อไวรัสเอช 7 เอ็น 9 ขณะนี้ยังมีอย่างจำกัด  จึงขอให้ประชาชนร่วมมือป้องกันโรคไข้หวัดนกทั้ง 2 สายพันธุ์ โดยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละอย่างน้อย 3 วัน วันละไม่ต่ำกว่า 30 นาที เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรค ประชาชนยังสามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ตามปกติ แต่ขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกทุกชนิดรวมทั้งนกธรรมชาติ รับประทานเนื้อไก่และไข่ที่ปรุงสุกด้วยความร้อน หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยหรือตาย ห้ามนำสัตว์ปีกที่ตายไปรับประทานหรือนำไปให้สัตว์อื่นกิน ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ให้สวมหน้ากากอนามัยและสวมถุงมือทุกครั้งหากต้องสัมผัสสัตว์ปีก และล้างมือบ่อยๆ ทุกครั้งหลังการสัมผัสสัตว์ปีกและสารคัดหลั่งของสัตว์ปีกด้วยสบู่และน้ำ  โดยให้ทุกจังหวัดประชาสัมพันธ์ความรู้และการป้องกันอย่างต่อเนื่อง  

                                                                                       เมษายน 3/9     *************************************    17  เมษายน 2556



   
   


View 17    18/04/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ