รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยอุบัติเหตุฉลองสงกรานต์ปี 2556  ช่วง 3  วัน พบรุนแรงกว่าปีที่แล้ว  โดยมีผู้เสียชีวิตคาที่เกือบ 2  ใน 3 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด   บาดเจ็บสาหัสมากถึง 1,321 ราย   แต่มีการเรียกใช้สายด่วนกู้ชีพ 1669 น้อยเพียงร้อยละ 19 ประชาชนนำส่งขึ้นรถไปส่งโรงหมอมากถึงร้อยละ 33  ชี้หากผู้บาดเจ็บได้รับการดูแลและนำส่งโดยทีมแพทย์มืออาชีพ  จะช่วยลดการเสียชีวิตของผู้บาดเจ็บได้มากกว่า  ส่วนผลการตรวจเหล้า ลงดาบผู้ฝ่าฝืน 93 ราย ตักเตือน 101 ราย

                นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลการปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์กู้ชีพ ในการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ในรอบ 3  วัน ตั้งแต่วันที่ 11-13 เมษายน 2556 ว่า  จากการประเมินสถานการณ์ของอุบัติเหตุจราจรพบว่า ปีนี้รุนแรงกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากพบว่ามีผู้บาดเจ็บอาการสาหัสมากถึง 1,321 ราย เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุมากถึงร้อยละ 67 หรือเกือบ 2 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด  และเสียชีวิตที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลมากถึง 43  ราย  สาเหตุหลักอันดับ 1 มาจากเมาสุรา ขับเร็ว

ตลอด 3 วันที่ผ่านมา ศูนย์สั่งการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินทั่วประเทศ ของกระทรวงสาธารณสุข ได้รับแจ้งเหตุจากประชาชนทางสายด่วนแพทย์ฉุกเฉิน 1669  จำนวน 6,621 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 19  ของเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมด ซึ่งยังถือว่ายังน้อยมาก หน่วยแพทย์ฉุกเฉินออกปฏิบัติการทั้งหมด  2,377 ครั้ง เฉลี่ยชั่วโมงละ 33 ครั้ง  ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 33 ประชาชนนำส่งเอง  

          นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศเร่งดำเนินการ 2 เรื่องใหญ่เพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิต คือ1.ให้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เข้มงวดกวดขันบังคับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และพระราชบัญญัติสุราพ.ศ.2493 อย่างเคร่งครัด ผู้ใดฝ่าฝืนให้ดำเนินคดีทันที   2.ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชน แจ้งเหตุเข้ามาทางสายด่วน1669 ให้มากขึ้น ซึ่งเป็นบริการฟรี  24  ชั่วโมง  หากผู้บาดเจ็บได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉินที่มีประมาณ 15,000 ทีมครอบคลุมทั่วประเทศ ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือภายใน 10 นาทีหลังรับแจ้งเหตุ  จะมีโอกาสรอดชีวิตได้มากกว่านำส่งเอง และลดความเสี่ยงเกิดพิการซ้ำซ้อนจากการช่วยเหลือที่ไม่ถูกวิธีลงได้  

          ทางด้านนายแพทย์พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับ ผลการตรวจบังคับใช้กฎหมายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ในช่วงวันที่ 11-13 เมษายน 2556  ในภาคกลางที่ จ.นนทบุรี และกทม. ภาคเหนือที่ สุโขทัย ลำพูน เชียงใหม่ และภาคใต้ที่ประจวบคีรีขันธ์  รวมทั้งหมด 191 ราย พบผู้กระทำผิดและดำเนินคดี 93  ราย บางรายผิดมากกว่า 1 ฐานความผิด  และตักเตือน 101  ราย

          ความผิดอันดับ 1 ได้แก่ การโฆษณาสื่อสารการตลาด รวม 67 ราย คิดเป็นร้อยละ 72 รองลงมาคือการลดแลกแจกแถม 15  ราย  คิดเป็นร้อยละ 16 ที่เหลือขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี 7  ราย  ขายนอกเวลา 8 ราย ขายในที่ห้ามเช่น ปั้มน้ำมัน ร้านขายยา ขายบนถนนรวม 6 ราย ขายโดยไม่มีใบอนุญาต 2  ราย ดื่มบนรถ 1  ราย   ได้กำชับทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศ ประสานทีมเจ้าหน้าที่ตำรวจและสรรพาสามิต ออกตรวจเตือนประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนอย่างต่อเนื่อง และหากพบกระทำผิดจะดำเนินคดีทุกรายทันทีเช่นกัน  

  สำหรับโทษความผิดขายเหล้าดังนี้ 1. ขายในสถานที่ห้ามขาย มีโทษจำคุก 6  เดือน ปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.การโฆษณาเหล้า ลดแลกแจกแถม มีโทษจำคุก 1  ปี ปรับ 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.ขายโดยไม่มีใบอนุญาต  มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท 4.ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20  ปี มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 5. ขายในเวลาห้ามขาย มีโทษจำคุก 2  ปี ปรับ 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 6. ดื่มเหล้าบนรถ  มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

*************************** 14 เมษายน 2556



   
   


View 21    14/04/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ