รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยเดือนเมษายนมีสถิติจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด ยอด 5 ปี ตั้งแต่ 2551-2555  รวม 2,208 คน เฉพาะวันที่ 12-16 เมษายน พบ 527 คน  แหล่งน้ำที่พบบ่อยคือ สระน้ำ หนองน้ำ คลองชลประทาน  อ่างเก็บน้ำ  ชี้สาเหตุตายมากส่วนหนึ่งเกิดจากการช่วยเหลือผิดวิธี ย้ำผู้ปกครองอย่าวางใจเด็กที่ใส่ห่วงยางเป่าลม หรือปลอกแขนเป่าลม เสี่ยงเกิดอันตรายแก่เด็กได้ เพราะเป็นของเล่น ไม่ใช่อุปกรณ์ช่วยชีวิต และอย่าปล่อยเด็กเล่นน้ำตามลำพัง ไม่ควรดื่มเหล้าก่อนหรือระหว่างลงเล่นน้ำ แนะวิธีช่วยเหลือคนตกน้ำ ทำ 3 อย่าง ตะโกน โยน ยื่น  

นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เดือนเมษายนเป็นช่วงที่มีอากาศร้อนมาก ประชาชนนิยมเล่นน้ำคลายร้อน ทำให้มีสถิติผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำมากที่สุด ข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ตั้งแต่พ.ศ.2551-2555 พบว่าเดือนเมษายนเพียงเดือนเดียว มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำรวม 2,208 คน โดย 2 ใน 3 อายุ 15 ปีขึ้นไป และอีก 1 ใน 3 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี  โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ 12-16 เมษายน  มีผู้จมน้ำเสียชีวิต 527 คน ข้อมูลล่าสุดในเดือนเมษายน 2555 มีผู้จมน้ำเสียชีวิต 450 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 130 คน เฉพาะช่วงสงกรานต์ 12-16 เมษายน มีผู้เสียชีวิต 107 คน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 26 คน แค่วันที่ 13 เมษายนวันเดียวมีเด็กเสียชีวิตถึง 9 ราย สูงกว่าวันปกติ 3 เท่าตัว   

แหล่งน้ำที่มีผู้จมน้ำเสียชีวิตสูงสุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์คือสระน้ำ หนองน้ำ รองลงมาคือคลองชลประทาน  อ่างเก็บน้ำ ส่วนใหญ่เกิดในภาคอีสาน เช่น ศรีสะเกษ  กาฬสินธุ์ นครราชสีมา บุรีรัมย์  อุบลราชธานี แหล่งน้ำที่เกิดเหตุมากที่สุดในกลุ่มเด็ก คือคลองชลประทาน และอ่างเก็บน้ำ ดังนั้น ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก ไม่ควรปล่อยให้เด็กไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง แม้ว่าจะเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้านหรือแหล่งน้ำที่คุ้นเคย กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดประชาสัมพันธ์เตือนผู้ปกครอง และเตรียมทีมแพทย์ให้การช่วยเหลือ หากพบเห็นผู้จมน้ำสามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669  ตลอดเวลา    

ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้มีผู้จมน้ำเสียชีวิตมาก ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการช่วยเหลือเบื้องต้นผิดวิธี ประชาชนมักช่วยเหลือผู้จมน้ำโดยการอุ้มพาดบ่าให้ศีรษะต่ำ เพราะเข้าใจว่าจะช่วยให้น้ำไหลออกจากปอด  ซึ่งการอุ้มผู้จมน้ำในลักษณะนี้ จะทำให้ผู้จมน้ำขาดอากาศหายใจนานขึ้น ฉะนั้นในการช่วยคนจมน้ำที่ถูกวิธี ควรรีบเป่าปากและนวดหัวใจ หากคลำชีพจรไม่ได้ ให้นวดหัวใจทันที ถ้าพบว่ายังหายใจเองได้หรือหายใจเองได้แล้ว ให้จับผู้จมน้ำให้นอนตะแคง ศีรษะหงายไปข้างหลังเพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก ใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วยให้ความอบอุ่น งดน้ำและอาหาร และรีบส่งผู้ป่วยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

สำหรับผู้ที่ว่ายน้ำไม่เป็นแต่ต้องการลงเล่นน้ำคลายร้อน ควรสวมเสื้อชูชีพตลอดเวลา ไม่ควรดื่มสุราก่อนหรือขณะลงเล่นน้ำ อาจเกิดตะคริวจากความเย็นของน้ำ หรือเมาจนช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่นน้ำเช่น ห่วงยางเป่าลม ปลอกแขนเป่าลม เป็นของเล่นไม่ใช่อุปกรณ์ที่ใช้ช่วยชีวิตทางน้ำ และอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่เด็กได้ อย่าปล่อยให้เด็กๆเล่นน้ำตามลำพัง ต้องอยู่ในสายตาผู้ปกครอง อย่าให้เด็กยืนใกล้ขอบบ่อหรือขอบสระ เพราะอาจลื่นพลัดตกลงน้ำได้ ทั้งนี้ เมื่อพบคนตกน้ำต้องไม่กระโดดลงไปช่วย เพราะอาจจะถูกกอดรัดและจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกัน ควรหาอุปกรณ์ช่วยและหาคนมาช่วย จำง่ายๆ 3 ประการ ตะโกน โยน ยื่น โดย 1.ตะโกน คือการเรียกให้คนมาช่วย และโทรแจ้ง 1669 2.โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำ เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า ขวดน้ำพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ โดยโยนครั้งละหลายๆชิ้น 3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ ผ้าขาวม้าให้คนตกน้ำจับพยุงตัวขึ้นมาจากน้ำ                   

******************** 12 เมษายน 2556



   
   


View 21    12/04/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ