วันนี้(3 เมษายน 2556)นายกมล บันไดเพชร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม และนายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม นำคณะสื่อมวลชน ตรวจสอบคลังเก็บวัตถุดิบสำหรับผลิตยาพาราเซตามอลที่นำเข้าจากต่างประเทศ  ที่คลังเก็บสินค้าฝ่ายบริการลูกค้าธุรกิจ บริษัทไปรษณีย์ไทย หลักสี่ แจ้งวัฒนะ กทม. และให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่องค์การเภสัชคำนึงถึงคือความปลอดภัยในชีวิต และสุขภาพของผู้ใช้ยาจากองค์การเภสัชกรรม เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญมาก คือเรื่องของความเชื่อมั่นในองค์การเภสัชกรรม เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นต้องทำการชี้แจง ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ดำเนินการตรวจสอบ
                นายกมล กล่าวว่า สิ่งที่กำลังจะทำคือให้เห็นว่ากระทรวงได้มาตรวจสอบและได้ตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องนี้แล้ว โดยประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม ได้ทำการตรวจสอบ ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าเมื่อเกิดเหตุทำนองนี้เกิดขึ้นกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะการที่สารตั้งต้นในการผลิตมีการปนเปื้อน เรามีการเอาออกไปทั้งหมด แล้วมาตรวจสอบให้แน่ใจว่าวัตถุดิบที่เหลืออยู่เราจะส่งคืนไม่นำมาผลิตอีก เพื่อให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า   ยาขององค์การเภสัชกรรมได้คุณภาพ ได้มาตรฐาน และสารตั้งต้นล็อตนี้ทางบริษัทตกลงที่จะรับคืนแล้ว ใน 2 สัปดาห์ ทั้งหมดจำนวน 148 ตัน
                 “การปนเปื้อนครั้งนี้ไม่ใช่ที่ตัวยา ไม่ใช่ยาที่ผลิตแล้ว แต่เป็นวัตถุดิบที่นำมาผลิตเป็นยาพาราเซตามอลที่มาตรวจสอบในวันนี้มาตรวจสอบเรื่องวัตถุดิบตามที่มีข่าวว่าปนเปื้อนเท่านั้นเอง โดยความเสียหายยังไม่ถึงมือผู้บริโภค ประชาชนมั่นใจได้ สามารถใช้ยาพาราเซตามอลขององค์การเภสัชกรรมได้  ขณะนี้ประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพราะเมื่อมีกระบวนการที่ส่งมอบวัตถุดิบมา แล้ววัตถุดิบมีปัญหาต้องมีผู้รับผิดชอบ ส่วนการรับผิดชอบอย่างไรเราให้คนกลางคือ ดีเอสไอ เข้ามาตรวจสอบ ส่วนผลรายงานยังไม่ได้รับมา เพราะจะเป็นหลักประกันว่าเราไม่ได้มาตรวจสอบกันเองแล้วมาโมเมกันเอง”นายกมลกล่าว
              ด้านนายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า วัตถุดิบผลิตพาราเซตามอล  ที่เป็นข่าวอยู่มีจำนวน 148 ตัน เก็บไว้ที่คลังบริษัทไปรษณีย์ไทย 100 ตัน ที่คลังองค์การคลังสินค้าหรือ อคส.  48 ตัน ทั้งหมดนำเข้ามาทดลองผลิตและยังไม่เคยนำออกสู่ท้องตลาด รวมทั้งส่วนที่โรงงานเภสัชกรรมทหารเอาไปผลิต 10 ตัน ก็ไม่ได้ออกสู่ท้องตลาดเหมือนกัน  ซึ่งเมื่อได้รับแจ้งว่ามีปนเปื้อนได้เก็บกลับคืนมาหมด และแจ้งให้บริษัทวัตถุดิบมารับคืนทั้งหมดใน 2 สัปดาห์  
          นายแพทย์วิทิต กล่าวต่อว่า การพบการปนเปื้อนเป็นเรื่องปกติ เป็นกระบวนการเชิงคุณภาพ ที่มีการตรวจสอบทุกขั้นตอนการผลิต  ก่อนเข้าสู่กระบวนการการผลิตถ้าพบว่าวัตถุดิบมีการปนเปื้อนก็ต้องคืน ถ้าผ่านกระบวนการต่างๆแล้วก็จะออกสู่ท้องตลาดได้  สำหรับวัตถุดิบล็อตนี้เป็นวัตถุดิบที่สำรองเอาไว้เพื่อเตรียมพร้อมที่จะผลิตออกสู่ตลาด  โดยแต่ละปีองค์การเภสัชกรรมผลิตยาพาราเซตามอล จำหน่ายประมาณ 500 ล้านเม็ด และขณะนี้ยาพาราเซตามอล ขององค์การเภสัชกรมยังมีจำหน่ายตามปกติ  
 เมษายน 1/1 ********3 เมษายน 2556


   
   


View 16    03/04/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ