นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีการศึกษาในเรื่องนี้มานานแล้ว ตนเพียงเข้ามาสานต่อ จากการที่รัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงระบบประกันสุขภาพเมื่อ10 ปีก่อน ทำให้เกิดมีวิวัฒนาการด้านระบบบริการสุขภาพ ซึ่งปัญหาที่ทุกหน่วยรับทราบคือ บทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน มีทั้งทับซ้อนกันหรือขาดหายไป เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อบริการ (Purchaser) ส่วนกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นผู้จัดบริการ(Provider)และดูแลกำหนดด้านมาตรฐาน (Regulator) แต่ยังไม่มีใครทำหน้าที่กำหนดทิศทางสุขภาพของประเทศอย่างชัดเจน ซึ่ง สธ.เองก็ไม่พร้อมที่จะทำเรื่องนี้ เพราะอาจจะมีความขัดแย้งในบทบาทของตนเองเพราะเป็นผู้ให้บริการด้วย

ดังนั้น จึงมีแนวคิดจัดตั้งเป็นคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ (National Health Authority:NHA) ขึ้น ทำหน้าที่กรองข้อเสนอของหน่วยงานต่างๆ ด้านสุขภาพ เช่น สสส.,สปสช. ,สช.,สพฉ.รวมทั้ง สธ. ที่เสนอหน้าที่ขึ้นมา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ เป็นกรรมการ   เพื่อกำหนดทิศทางนโยบาย สุขภาพของประเทศ ให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับนโยบายรัฐบาล
“ความเข้าใจที่ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติขึ้นมาคุมองค์กรด้านสุขภาพทั้งหมดนั้น ขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อน เพราะคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติชุดนี้ อยู่เหนืออำนาจหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข และตั้งขึ้นเพื่อดูแลคณะกรรมการทุกชุดที่ทำงานเกี่ยวข้องด้านสุขภาพทั้ง สธ.,สสส., สป.สช., สช. ,สพฉ. เป็นต้น ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ซึ่งเป็นการปฎิบัติเชิงนโยบาย ” นายแพทย์ประดิษฐกล่าว
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า กรณีที่มีผู้สงสัยว่าทำไมไม่มีภาคประชาชนในคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติชุดนี้ ขอชี้แจงว่า คณะกรรมการชุดนี้เป็นคณะกรรมการบริหารเชิงนโยบาย ซึ่งในคณะกรรมการชุดต่างๆ ด้านสุขภาพ เช่น สสส. สปสช. สช. ต่างก็มีภาคประชาชนอยู่ในทุกชุดอยู่แล้ว ถือว่ามีการกรองมาชั้นหนึ่งแล้ว และภาคประชาชนที่แท้จริงคือรัฐบาลที่เข้ามาโดยการเลือกตั้ง จึงถือว่าเป็นการกรองถึง 2 ชั้นแล้ว
ทั้งนี้ การตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติชุดนี้ขึ้นมา กระทรวงสาธารณสุขจะถูกลดบทบาทลง เป็นเพียงหน่วยดูแลกำหนดด้านมาตรฐาน (Regulator) ด้านบริการต่างๆ ทั้งด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ     ให้เป็นมาตรฐานเดียวของประเทศ ทำงานแบบบูรณาการกับภาคบริการ  ซึ่งผลดีจะทำให้ประชาชนได้รับการดูแลที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ   

 ************************************************** 26 มีนาคม 2556



   
   


View 14    26/03/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ