รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คาดเมื่อไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนพยาบาลไทยแบกรับภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น ประมาณ 4-5 เท่าตัว จากการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยต่างด้าวตามแนวชายแดน และต่างด้าวใช้แรงงาน รวมทั้งผู้ป่วยทุกสิทธิรักษา เข้าใช้บริการ จากเดิมปีละ 250 ล้านครั้งต่อปี  เป็น 300-400 ล้านครั้ง พร้อมหนุนปรับค่าตอบแทนตามภาระงาน ให้มากขึ้น เป็นขวัญกำลังใจ และหนุนความก้าวหน้าพยาบาลก้าวสู่นักบริหาร

         วันนี้(25 มีนาคม 2556)ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดการประชุมสัมมนาผู้บริหารการพยาบาล โรงพยาบาลชุมชน เรื่อง“ศักยภาพพยาบาลไทยปัจจุบันและอนาคต กับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งเครือข่ายผู้บริหารการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน ในการเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงจากประชาคมเอเซียน”  ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 500 คน ว่า หลังจากประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว คาดว่าจะทำให้พยาบาลมีภาระงานมากขึ้นกว่าเดิม โดยจะมีต่างด้าวเข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลมากขึ้นทั้งตามแนวชายแดนและต่างด้าวที่เข้ามาใช้แรงงานในประเทศที่คาดว่าจะมีประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งไม่ได้กระทบเฉพาะต่อพยาบาลเพียงอย่างเดียว ยังกระทบต่อทุกวิชาชีพ โดยจากการประเมินในอดีตที่ผ่านมา โดยทั่วไปคนไทยเข้าใช้บริการที่โรงพยาบาลปีละ 70 ล้านครั้ง แต่ปัจจุบันมีประชาชนเข้าใช้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพ 250 ล้านครั้งต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 4 -5 เท่าตัว และหากรวมทุกสิทธิ์รักษา รวมต่างด้าวอาจเพิ่มขึ้น 300-400 ล้านครั้งต่อปี ซึ่งรัฐบาลต้องสูญเสีย ค่ารักษาพยาบาลต่างด้าวที่เรียกเก็บไม่ได้ปีละประมาณ 200 ล้านบาท  

          นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า จากภาระงานที่มากขึ้นดังกล่าว รัฐบาลได้มีนโยบายปรับปรุงค่าตอบแทนต่างๆให้แก่บุคลากรสาธารณสุข เพื่อลดปัญหาสมองไหล ในเรื่องของรายได้ ซึ่งไม่สามารถเพิ่มเงินเดือนได้ โดยมอบให้กระทรวงสาธารณสุข กำหนดวิธีการ หลักการจ่ายค่าตอบแทนที่ชัดเจน สามารถตอบคำถามของสังคมได้ว่าประชาชนได้อะไรเพิ่มขึ้น ผู้ปฏิบัติงานมากย่อมได้รับค่าตอบแทนมากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำวิชาชีพ ไม่ใช่เพียงแพทย์ที่ได้ค่าตอบแทนสูง การปรับปรุงวิธีจ่ายค่าตอบแทน ด้วยวิธีเหมาจ่ายยังจ่ายให้ตามพื้นที่ยังมีความจำเป็น เช่น พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่ภูเขา บนดอย พื้นที่เฉพาะ และบวกกับการจ่ายค่าตอบแทน ตามผลการปฏิบัติงาน และประชาชนผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์จากผลของการปรับปรุงการจ่ายค่าตอบแทนโดยตรง โดยรัฐบาลจะหาเงินมาเพิ่มโดยชอบธรรม ไม่เบียดบังค่ารักษาแต่อย่างใด เช่นการปรับปรุงประสิทธิภาพ  ลดการซ้ำซ้อน การขายหลักประกันสุขภาพให้กลุ่มแรงงานต่างด้าว เพิ่มให้อีกร้อยละ 20 ภาพรวมทุกวิชาชีพ ต้องได้เพิ่มขึ้นโดยวิธีการจ่ายเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานอื่น  

          นอกจากนี้ ยังมีนโยบาย เพิ่มความก้าวหน้าของพยาบาล ให้ถึงระดับเชี่ยวชาญ เพิ่มตำแหน่งวิชาการ ให้พยาบาลในวิทยาลัยต่างๆ  ให้พยาบาลเติบโตมีความก้าวหน้า ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้บริหารในยุคต่อไป ซึ่งผู้บริหารสาธารณสุขจะต้องประกอบด้วยสาขาวิชาชีพต่างๆ ไม่ใช่กลุ่มแพทย์อย่างเดียว เพื่อลดความแตกต่างทางการบริหาร นายแพทย์ประดิษฐ กล่าว.
********************************      25 มีนาคม 2556


   
   


View 8    25/03/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ