สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานคำชี้แนะการแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนของไทย ผลสำรวจล่าสุดปี 2555 พบครัวเรือนไทยใช้เกลือเสริมไอโอดีนร้อยละ 85 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 90 เตรียมร่างยุทธศาสตร์ปี 2557 – 2559 สร้างชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีนครบ 100 เปอร์เซ็นต์ทุกพื้นที่  เพื่อให้ประเทศไทยปลอดโรคขาดสารไอโอดีน เสริมปัญญาคนทุกกลุ่มวัย ก้าวไกลสู่อาเซียน

 

             วันนี้ (22 มีนาคม 2556) เวลา 15.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2556 ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนในปี 2553-2556 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6 หน่วยงาน ได้แก่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และชมรมผู้ประกอบการเกลือเสริมไอโอดีน รับฟังข้อเสนอแนะการประเมินผลโครงการฯ ครั้งที่ 4 ของคณะผู้เชี่ยวชาญจากสภานานาชาติเพื่อการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน (ICCIDD) โดย ศ.เครส อีสต์แมน รองประธาน ICCIDD และแผนการดำเนินงานระหว่างปี 2557-2559

          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีความห่วงใยปัญหาการขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับเป็นองค์ประธานคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ ตั้งแต่พ.ศ.2534  เนื่องจากไอโอดีนเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อการสร้างเซลล์สมองและการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะการเจริญเติบโตของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เด็กที่ได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอ สมองจะเติบโตช้ากว่าปกติและมีผลต่อสติปัญญา ถ้าขาดไอโอดีนรุนแรงจะเป็นโรคเอ๋อ การขาดไอโอดีนในประชาชนทั่วไปทำให้ขาดความกระปรี้กระเปร่า ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาประเทศ 

           ผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาการขาดสารไอโอดีน พ.ศ. 2553-2556 ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข 4 ฉบับ กำหนดให้เติมไอโอดีนในน้ำปลา เกลือบริโภค น้ำเกลือปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนในถั่วเหลืองเช่นซ๊อส ซีอิ๊ว สนับสนุนเครื่องผสมเกลือไอโอดีนแก่ผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลางเพื่อให้เกลือบริโภคมีสัดส่วนของไอโอดีนเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ผลการประเมินของคณะผู้เชี่ยวชาญจากสภานานาชาติเพื่อการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน พบว่าผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาของไทยในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ 

           ผลการตรวจคุณภาพของเกลือเสริมไอโอดีนในปี 2555 ปรากฏว่า ที่จุดผลิต ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 44 ส่วนเกลือที่วางจำหน่ายในร้านค้าต่าง ๆ ผ่านมาตรฐานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14 เป็นร้อยละ 49 ประชาชนใช้เกลือบริโภคเสริมไอโอดีนครอบคลุมร้อยละ 85  ของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้คือร้อยละ 90 ส่วนผลการเฝ้าระวังการขาดสารไอโอดีนในกลุ่มเสี่ยงคือหญิงตั้งครรภ์ พบว่าดีขึ้น ผลการตรวจปัสสาวะหญิงตั้งครรภ์ทุกจังหวัดพบขาดสารไอโอดีน คือมีระดับไอโอดีนในปัสสาวะน้อยกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลิตร เพียงร้อยละ 47 ซึ่งผ่านเกณฑ์พื้นที่ขาดสารไอโอดีนที่องค์การอนามัยโลกกำหนดเกณฑ์พื้นที่ขาดสารไอโอดีนคือพื้นที่ที่มีหญิงตั้งครรภ์มีปริมาณไอโอดีนในปัสสาวะน้อยกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลิตรมากกว่าร้อยละ 50  

           ในด้านการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่าย เพื่อกระตุ้นให้เกิดชุมชนและหมู่บ้านไอโอดีนทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ พบว่ามีชุมชน/หมู่บ้านที่เข้าร่วมกระบวนการ 72,766 แห่งคิดเป็นร้อยละ 94 และผ่านการรับรองเป็นชุมชน/หมู่บ้านไอโอดีนแล้วร้อยละ 53 รวมทั้งได้แจกยาเม็ดวิตามินเสริมไอโอดีนแก่หญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอดนาน 6 เดือน และสนับสนุนไอโอดีนเพื่อผสมในน้ำดื่มในพื้นที่โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 719 แห่ง โดยคณะผู้เชี่ยวชาญจากสภานานาชาติเพื่อการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน  ได้เพิ่มข้อเสนอแนะให้ไทยดำเนินการอย่างยั่งยืน ให้เร่งสร้างความครอบคลุมให้ทุกครัวเรือนใช้เกลือเสริมไอโอดีน  มีระบบติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ปัญหากลับมารุนแรงอีก    

          ดังนั้นแผนควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนในระยะ พ.ศ.2557-2559 ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยปลอดโรคขาดสารไอโอดีน  เสริมสร้างสติปัญญาและสุขภาวะที่ดีของทุกกลุ่มวัย  ก้าวไกลสู่อาเซียน ประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1.การขับเคลื่อนในระดับนโยบาย สร้างความร่วมมือองค์กร ภาคีเครือข่ายเพื่อร่วมดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 2.เกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้า มีการผลิตและกระจายเกลือเสริมไอโอดีนคุณภาพ และบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ 3.ระบบเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในกลุ่มเสี่ยง

            4.สร้างความเข้มแข็งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อนให้เกิดชุมชนและหมู่บ้านไอโอดีนทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ มีการใช้เกลือเสริมไอโอดีนในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียน และมีแผนงานควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนในระดับท้องถิ่น 5.ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ และการตลาดเชิงสังคมเพื่อส่งเสริมการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนอย่างต่อเนื่อง 6.การศึกษาวิจัยต่างๆ และ7.การใช้มาตรการเสริม โดยสนับสนุนให้มีการบริโภคน้ำดื่มเสริมไอโอดีน ในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และให้สถานบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนจ่ายยาเม็ดวิตามินเสริมไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอดนาน 6 เดือนอย่างต่อเนื่อง

           อนึ่ง ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรนิทรรศการ ผลการดำเนินงาน ผลงานการวิจัยและพัฒนาต่าง ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เครื่องผสมเกลือไอโอดีน ชุดทดสอบและเครื่องอ่านค่าไอโอดีน ศูนย์การเรียนรู้การผลิตเกลือบริโภคเสริมไอโอดีน และการแสดงผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีน ก่อนเสด็จฯ กลับ   

  **************************  22 มีนาคม 2556



   
   


View 8    22/03/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ