“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 441 View
- อ่านต่อ
“ยืนยันไม่มีการล้มหรือยุบหน่วยงานด้านสุขภาพที่ตั้งก่อนหน้า”
บ่ายวันนี้ (12 มีนาคม 2556) ที่โรงแรมมิราเคิล กทม. นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ตัวแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ เพื่อมอบนโยบายทิศทางการพัฒนาระบบการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข ให้มีประสิทธิภาพ เอื้อประโยชน์ประชาชนทั่วประเทศเข้าถึงบริการและได้รับบริการอย่างมีคุณภาพทั่วถึง
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า จากการประเมินผลการทำงานหลังจากสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในรอบ 10 ปีมานี้ พบว่าช่วยประชาชนพ้นจากความยากจน การเข้าถึงบริการเพิ่มจาก 1 เป็น3 ครั้ง แต่ปัญหาพบว่า โรงพยาบาลใหญ่เกิดความแออัด ใช้กำลังคนมากขึ้น ในการแก้ปัญหารัฐบาลต้องการให้ระบบมีความยั่งยืน จึงมีแนวคิดพัฒนาระบบการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศ และเขตบริการ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผู้ซื้อบริการ (Purchaser) ซึ่งประกอบด้วย สปสช. กรมบัญชีกลาง และสนง.ประกันสังคม 2.กลุ่มผู้ให้บริการ(Provider) รายใหญ่ คือ กระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบให้มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการลงทุนซ้ำซ้อน กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มกำหนดนโยบายสาธารณสุขระดับชาติ มีแนวคิดจัดตั้งเป็นคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ (National Health Authority) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ เป็นกรรมการ เปรียบเสมือนเป็นคณะรัฐมนตรีสุขภาพย่อย ทำหน้าที่เป็นองค์กรสูงสุดในด้านบริหาร กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์สุขภาพระดับชาติ ให้คำแนะนำด้านนโยบายแก่รัฐบาล องค์กรนี้ไม่ได้ทับซ้อนกับหน่วยงานอื่น และมีคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาแล้ว อาทิ ด้านยา ด้านแอลกอฮอล์ ด้านเอดส์ ซึ่งแต่ละคณะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่งอยู่แล้ว ร่วมให้ข้อเสนอทางนโยบายแต่ละด้าน การปรับบทบาทครั้งนี้ ประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุด การทำงานมีประสิทธิภาพ ไม่ซ้ำซ้อน และมีการตั้งศูนย์ข้อมูลสุขภาพแห่งชาติ (Nation Health Information) เพื่อจัดทำระบบรายงานข้อมูลสุขภาพของประเทศ ทุกหน่วยงานสามารถใช้ร่วมกันได้ โดยในเบื้องต้นจะให้สปสช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยจ่ายกลางของ 3 กองทุนสุขภาพ และกองทุนอื่นๆ ในอนาคต
“ขอยืนยันว่าการปรับระบบการทำงานครั้งนี้ ไม่ได้ล้มเลิก หรือยุบหน่วยงานใดๆ ที่ตั้งมาก่อนแล้ว เช่น สปสช. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน หรือรวบอำนาจเหมือนที่หลายฝ่ายเข้าใจคลาดเคลื่อน แต่เป็นการทำหน้าที่ตามบทบาทของตนเองให้ชัดเจน และทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน” นายแพทย์ประดิษฐกล่าว
นอกจากนี้ จะมีหน่วยดูแลกำหนดด้านมาตรฐาน (Regulator) ด้านบริการต่างๆ ทั้งด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งจะมีการปรับบทบาทการทำงานของกรมวิชาการ เช่นกรมการแพทย์ กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต จะทำหน้าที่พัฒนากำหนดมาตรฐานด้านเทคนิคมาตรฐานบริการ วิชาการ เทคโนโลยีด้านสุขภาพใหม่ๆ ให้หน่วยบริการ กรมวิชาการต้องเป็นผู้ชี้นำในเรื่องมาตรฐาน เป็นมาตรฐานเดียวของประเทศ ทำงานแบบบูรณาการกับภาคบริการ ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับการดูแลที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ในอนาคตต่อไป กระทรวงสาธารณสุขมีแผนจะพัฒนาเป็นศูนย์เชี่ยวชาญต่างๆ การผลิตบุคลากรเอง ผลิตแพทย์ในเชิงการสาธารณสุข
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ในกลุ่มของผู้ซื้อบริการ จะมีการปรับระบบการเงิน จ่ายเงินรายหัวประชากร ไปที่กระทรวงสาธารณสุข และให้มีตัววัดผลลัพธ์การทำงาน คุณภาพบริการ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้จัดบริการ จะมีการปรับประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยจัดกลุ่มจังหวัด เป็นเขตบริการร่วม มีทั้งหมด 12 เขต ลดการลงทุนซ้ำซ้อนต่างๆ โดยให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดการใช้ประโยชน์เต็มที่ มองโรงพยาบาลเล็กในเขตบริการทั้งหมดว่าเป็นโรงพยาบาลเดียวกัน สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทั้งคน เงิน เครื่องมือแพทย์ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสะดวกที่สุด ไม่ต้องเดินทางไปที่อื่น ระบบนี้จะทำให้การบริหารกำลังคน เงินมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รู้ต้นทุนบริการที่แท้จริงภายในเขต ซึ่งจะสะท้อนถึงคุณภาพบริการ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังได้มีแนวคิดจะพัฒนาระบบการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขให้ยั่งยืน และครอบคลุมเป็นธรรมทุกวิชาชีพ ซึ่งเป็นถือทีมสุขภาพทำงานร่วมกัน ยืนยันว่าไม่มีการล้มเลิกแน่นอน แต่จะนำไปรวมกับงบค่าใช้จ่ายรายหัวเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และปรับหลักเกณฑ์การจ่ายให้เกิดประสิทธิภาพต่อระบบบริการประชาชนด้วย ซึ่งจะเกิดประโยชน์ 2 ทางทั้งประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐาน และผู้ให้บริการมีความสุขในการทำงาน มีค่าตอบแทนเหมาะสมภาระงานหนัก และประเมินผลได้ชัดเจน
ทางด้านนายแพทย์สุทัศน์ ศรีวิไล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และประธานชมรมผู้บริหารโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนของบุคลากรสาธารณสุขตามภาระงาน ว่า “ทางชมรมฯ ขอสนับสนุนและเห็นว่าผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เดินมาถูกทางในนโยบายเรื่องกำลังคน และการจ่ายค่าตอบแทน ซึ่งการจ่ายค่าตอบแทนที่เกินมาตรฐานเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง สมควรจ่ายตามภาระงานซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล ทางชมรมขอสนับสนุนและจะดำเนินการตามนโยบายเต็มที่ เพราะนอกจากประชาชนจะได้รับบริการดีขึ้นแล้ว ยังทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการมีแรงจูงใจในการพัฒนาบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
******************************** 12 มีนาคม 2556