บอร์ด สปสช. ตั้งอนุ กก.พัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุรองรับไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ  พบค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ

                มติบอร์ด สปสช.เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว  เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดระบบการดูแลรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ หลังข้อมูลชี้ไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงสุดในอาเซียน และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวในปี  2564  ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้น

            เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2556  ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ  ถ.แจ้งวัฒนะ กทม.  นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่อง  ข้อเสนอการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่ในภาวะพึ่งพิง

            นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า ข้อมูลสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2555 ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ  65 ปีขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 12.59  ซึ่งมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะที่สิงคโปร์มีสัดส่วนผู้สูงอายุ ร้อยละ12.25 และเวียดนาม ร้อยละ 8.53

      สำหรับข้อมูลล่าสุดธันวาคม 2555 ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุ  8,837,144 คน โดยแบ่งเป็นผู้สูงอายุที่มีสิทธิ 30 บาทยุคใหม่มีจำนวน  6,771,516  ล้านคน ที่เหลือเป็นสิทธิสวัสดิการข้าราชการจำนวน 2,065,628 คน  และคาดว่าในปี  2568  จะเพิ่มเป็น 14.5 ล้านคน  ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมการรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่จะมีค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น  

          ทั้งนี้ จากข้อมูลบัญชีรายจ่ายสุขภาพของประเทศไทย ปี 2555  พบว่ามีค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพ ประมาณการณ์  4.3 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้สูงอายุมีจำนวน 1.4 แสนล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 30  ของค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพ และในอนาคตจะมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงขึ้นด้วย ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขและ สปสช.ได้เร่งปรับกระบวนการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานทั้งระบบบริหารและระบบบริการรักษาพยาบาลและการดูแลผู้สูงอายุ   

           นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งดูแลประชากรกว่า 48 ล้านคน ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในการรองรับตรงนี้ และเพื่อให้การดำเนินงานมีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น  

           ทั้งนี้ วันนี้ (11 มีนาคม) ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุ กรรมการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง เพื่อทำหน้าที่ประสานและสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง วิเคราะห์สถานการณ์ และพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงทั้งในเชิงสุขภาพและสังคม โดยพิจารณาประเด็นย่อยร่วมด้วย เช่น ชุดบริการ ระบบการดูแล ระบบการเงินการคลัง และการบริหารจัดการในระดับพื้นที่ รวมทั้งกำลังคนด้านสุขภาพและด้านอื่นๆ และนำเสนอคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อพิจารณาจัดทำแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง เพื่อให้เกิดระบบได้จริงภายในระยะเวลาที่เหมาะสม และกำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนด

            อย่างไรก็ตาม   คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง มีนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน  กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้านผู้สูงอายุ เป็นประธาน นายแพทย์สุวิทย์   วิบุลผลประเสริฐ เป็นรองประธาน อนุกรรมการประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนสภาการพยาบาล ผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบลในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รองอธิบดีกรมการแพทย์ รองอธิบดีกรมอนามัย ผู้อำนวยการส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม เลขาธิการสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          ทั้งนี้ จากการที่บอร์ด สปสช.ศึกษาดูงานระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างเครือข่ายกับผู้บริหารและนักวิชาการด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศญี่ปุ่นในประเด็นการบริหาระบบการเงินการคลัง และการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งพิจารณาความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นในการพัฒนาระบบประกันสุขภาพ ซึ่งข้อสรุปที่ได้นั้นนำมาปรับใช้ในประเทศไทยเพื่อเตรียมพร้อมการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุที่ต้องการการพึ่งพา ทั้งระบบการดูแล ชุดบริการ บุคลากรและการเงิน โดยกระทรวงสาธารณสุขและ JICA ได้มีการทดลองนำร่องไว้แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาต่อเนื่องเฟสที่  2  และการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ยังได้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการเงิน การคลังของระบบประกันฯ เพื่อให้หน่วยบริการและผู้ให้บริการมีค่าตอบแทนที่เหมาะสม ท้องถิ่นมีส่วนร่วม ประชาชนเป็นเจ้าของระบบและได้รับบริการที่มีคุณภาพด้วย

***************************************** 11 มีนาคม 2556

 



   
   


View 15    11/03/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ