กระทรวงสาธารณสุข ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดพัทลุง วันนี้ 1 ทีม ที่อำเภอกงหรา ด้านสถานบริการสาธารณสุขไม่ได้รับความเสียหายใดๆ สามารถเปิดให้บริการตามปกติ เฝ้าระวัง โรคระบาดที่มากับน้ำป่า โดยเฉพาะโรคฉี่หนู แนะหากมีไข้กะทันหัน ปวดเมื่อยน่อง ต้นขา ให้รีบพบแพทย์ทันที

          จากกรณีเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในจังหวัดพัทลุง เมื่อ 24  กุมภาพันธ์ 2556  ที่ผ่านมา มีพื้นที่ประสบภัย 4  อำเภอ ได้แก่ อ.ศรีนครินทร์ อ.กงหรา  อ.ควนขนุน และอ.เมืองพัทลุง ประชาชนได้รับความเดือนร้อน 2,098  ครัวเรือน 10,506  คน  ในวันนี้ ( 26 กุมภาพันธ์ 2556 ) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง และโรงพยาบาลควนขนุน ออกให้บริการประชาชน ตรวจรักษาผู้เจ็บป่วย และแจกจ่ายยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่อ.ควนขนุน ซึ่งมีระดับน้ำสูงเฉลี่ยประมาณ 30-60 เซนติเมตร ขณะนี้ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง

              นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ในส่วนสถานบริการสาธารณสุข ขณะนี้ยังไม่มีรายงานความเสียหายใดๆ อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้สถานบริการสาธารณสุขในจังหวัดที่เสี่ยงน้ำท่วม ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ใน 8  จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช จ.พัทลุง  จ.สงขลา  จ.ปัตตานี  จ.ยะลา จ.นราธิวาส จ.ตรัง และ จ.สตูล  ให้ดำเนินการป้องกันน้ำท่วมสถานบริการอย่างเต็มที่ตามมาตรการที่กำหนด เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชน ขณะเดียวกันได้สั่งการให้เตรียมพร้อมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และทีมแพทย์ฉุกเฉิน ออกให้บริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

                นอกจากนี้ได้สั่งการให้จังหวัดที่ประสบภัย และระดับน้ำลดแล้วเฝ้าระวังโรคระบาดที่อาจจะมาน้ำท่วมโดยเฉพาะโรคฉี่หนู ที่อาจพบได้ในพื้นที่น้ำท่วมขังชื้นแฉะ เนื่องจากหนูซึ่งเป็นพาหะนำโรคจะหนีน้ำเข้ามาอาศัย ตามบ้านเรือนของประชาชน โดยให้เฝ้าระวังโรคฉี่หนูอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 15  วันหลังน้ำลด และหากประชาชน มีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้สูงกะทันหัน ปวดศีรษะมาก ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะบริเวณน่อง โคนขา และกล้ามเนื้อหลัง ไม่ควรซื้อยากินเอง ควรรีบพบแพทย์  หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกมาให้บริการในพื้นที่ หรือที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้านโดยเร็ว

                ในการป้องกันโรคฉี่หนู ในช่วงที่เกิดน้ำท่วมควรหลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำ แช่น้ำ ย่ำโคลนนานๆ เมื่อขึ้นจากน้ำแล้วต้องชำระล้างร่างกายให้สะอาด หากต้องลุยน้ำ ย่ำโคลน เดินบนที่ชื้นแฉะ ควรสวมรองเท้าบู๊ท หรือรองเท้าแตะที่สามารถป้องกันการเหยียบของมีคม ซึ่งอาจเกิดบาดแผลทำให้เชื้อโรคฉี่หนูเข้าสู่ร่างกายได้หลังน้ำลดให้รีบทำความสะอาดที่พัก และบริเวณบ้านเรือน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนูหรือสัตว์อื่นๆ

 

************************************** 26 กุมภาพันธ์ 2556



   
   


View 8    26/02/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ