บ่ายวันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานแถลงข่าวเรื่อง การขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยเพื่อการรักษาพยาบาล รวม 90 วัน ให้ผู้ป่วยต่างชาติและผู้ติดตามจำนวนรวมไม่เกิน 4 คน ที่มาจากกลุ่มประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับหรือจีซีซี (GCC : Gulf Cooperation Council) 6 ประเทศ หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และศูนย์ฝึกอบรมการแพทย์แผนไทย เรือนหมอเพ็ญนภา กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

          นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดบริการสุขภาพ กำหนดให้นโยบายเมดิคัล ฮับ(Medical Hub) เป็นนโยบายสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพนานาชาติ 3 เรื่อง เพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศไทย คือ 1. ศูนย์กลางบริการรักษาพยาบาล  (Service Hub) ทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 2.ศูนย์กลางบริการวิชาการทางการแพทย์และงานวิจัย (Academic Hub) และ 3.ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub) ทั้งยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร เครื่องมือแพทย์ วัคซีน อาหารเพื่อสุขภาพ  รวมทั้งได้ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการใช้บุคลากรทางการแพทย์ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกัน ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดผลกระทบกับการจัดบริการสุขภาพโดยรวมของคนไทย ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการไปพร้อมๆ กับนโยบายการลดความเลื่อมล้ำในการจัดบริการระบบสุขภาพให้ประชาชนใน 3 กองทุน สามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน โดยเฉพาะกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับบริการได้ในสถานพยาบาลทุกแห่ง

         นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า จากการเดินทางไปเยือนประเทศในกลุ่มรัฐอ่าวอาหรับ พบว่าเป็นกลุ่มประเทศที่นิยมเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทย และมีความสนใจที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านการแพทย์ทั้งด้านบริการและแลกเปลี่ยนความรู้  ได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดหลักเกณฑ์การเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทยสำหรับผู้รับบริการชาวต่างชาติที่ต้องการจะเดินทางเข้ามาเพื่อรับบริการด้านสุขภาพ  สามารถพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยพร้อมผู้ติดตามไม่เกิน 4 คน ได้นานขึ้นจากเดิม 30 วัน เพิ่มเป็น 90 วัน โดยมีการออกกฎทรวงฯ และประกาศกระทรวงมหาดไทย ภายใต้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522  ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2556  โดยนำร่องใน 6 ประเทศกลุ่มอ่าวอาหรับ ได้แก่ ราชอาณาจักรบาห์เรน รัฐคูเวต รัฐสุลต่านโอมาน รัฐกาตาร์ ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ 

                                                        

คาดว่านโยบายนี้ จะทำให้มีการขยายตัวของการใช้บริการสุขภาพของชาวต่างชาติ สร้างรายได้เข้าประเทศไทยมากขึ้น และในอนาคตอันใกล้ที่ไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558 ที่มีความร่วมมือทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งบริการด้านสุขภาพจะเป็นหนึ่งในสาขาเร่งรัด ที่ประเทศอาเซียนต้องบรรลุข้อผูกพันและเปิดเสรีร่วมกัน  ซึ่งสมาชิกอาเซียนมี 10 ประเทศ ประชากรรวมกว่า 590 ล้านคน เป็นตลาดสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่ไทยจะขยายโครงการเมดดิคัล ฮับ ไปยังตลาดในกลุ่มอาเซียนด้วย                                            

ด้านนายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับความนิยมและความเชื่อมั่นจากชาวต่างชาติ เดินทางเข้ามารับบริการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สร้างรายได้ให้ประเทศเป็นจำนวนมาก จุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์นอกจากฝีมือความเชี่ยวชาญของแพทย์แล้ว ต่างชาติยังประทับใจในบริการอย่างมิตรไมตรีของคนไทย ในปี 2555 มีชาวต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาล 2 ล้านกว่าครั้ง ร้อยละ 60 เป็นนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่เดินทางมาเพื่อรักษาตัวโดยตรง นำรายได้เข้าประเทศ 121,658 ล้านบาท บริการที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ ตรวจสุขภาพ ศัลยกรรมความงาม รวมทั้งแปลงเพศ ทันตกรรม ศัลยกรรมกระดูก และผ่าตัดหัวใจ ตามลำดับ

        นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ในการจัดระบบบริการต่างชาติ ตามนโยบายขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยเพื่อการรักษาพยาบาล รวม 90 วัน สำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตามสำหรับกลุ่มประเทศสมาชิก GCC อ่าวอาหรับในครั้งนี้  นับว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยซึ่งส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคซับซ้อน เรื้อรัง ต้องใช้เวลารักษาพยาบาลนาน  กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดระบบอำนวยความสะดวก โดยเปิดจุดบริการ (Counter Service)ให้บริการข้อมูลด้านสุขภาพแก่ผู้รับบริการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่บริเวณชั้น 2 อาคารผู้โดยสารขาเข้า ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ  พร้อมให้ข้อมูลทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ  ผ่านระบบโทรศัพท์ หมายเลข 02-193-7999 บริการ 60 คู่สายตลอด 24 ชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่บริการ 6 คน  โดยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเดินทางไปรับและให้เกียรติเป็นประธานในพิธีต้อนรับ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  

        สำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในไทย จะต้องมีเอกสารการนัดหมายจากสถานพยาบาล เอกสาร รับรองทางการเงิน เอกสารรับรองความสัมพันธ์ของผู้ติดตาม และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้มีโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำที่มีคุณภาพมาตรฐานนานาชาติและมีศักยภาพให้บริการชาวต่างชาติเข้าร่วมโครงการนี้ 103 แห่ง อยู่ในต่างจังหวัด 67 แห่ง ที่เหลืออยู่ในกทม. รวม 7 แห่ง รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขได้เปิดเว็บไซต์เมดดิคัล ฮับ ให้บริการข้อมูลแก่ชาวต่างชาติ  www.thailandmedicalhub.net

  ********************** 22 กุมภาพันธ์ 2556



   
   


View 9    22/02/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ