“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 455 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งสำนักระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลทุกแห่ง เฝ้าระวังผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันที่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดบวมรุนแรงทุกราย ให้สอบสวนประวัติโดยละเอียด เผยขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติเข้าข่ายโรคนี้
จากกรณีที่องค์การอนามัยโลก ได้ออกประกาศให้กระทรวงสาธารณสุขทั่วโลก คงระบบเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันที่มีอาการรุนแรง หลังมีรายงานจากประเทศอังกฤษ พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2012 (Novel Corona Virus : NCoV) จำนวน 2 ราย เป็นชาวอังกฤษ ซึ่งรายแรกมีอาการป่วยและเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2556 มีประวัติเดินทางกลับจากประเทศปากีสถาน และซาอุดิอาระเบีย ส่วนรายที่ 2 เป็นญาติของผู้ป่วยรายแรก กำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล โดยที่ผู้ป่วยรายนี้ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ จนถึงล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556 องค์การอนามัยโลกรายงานว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อนี้จำนวน 11 ราย จึงได้ออกประกาศแนะนำให้ประเทศสมาชิกทั่วโลก ดำเนินการเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันที่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเดินทางกลับจากกลุ่มประเทศคาบสมุทรอาราเบียนและประเทศใกล้เคียง
ความคืบหน้าเรื่องนี้ ในส่วนของประเทศไทยวันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การประกาศเตือนขององค์การอนามัยโลกครั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักเพื่อเน้นย้ำให้ทุกประเทศทั่วโลกดำเนินการเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันที่มีอาการรุนแรง หลังจากที่เคยประสบปัญหาระบาดทั่วโลก ได้สั่งการให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ เฝ้าระวังกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดบวมหรือมีปัญหาติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่มีอาการรุนแรง มีไข้สูง และปอดผิดปกติทุกรายอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำการคัดกรองหาผู้ที่ติดเชื้อ รวมถึงไข้หวัดนกและโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ 2012 เนื่องจาก 2 โรคนี้มีอาการใกล้เคียงกัน และไข้หวัดนก ขณะนี้พบว่ายังมีการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน และให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ประสานทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อวางความพร้อมระบบการป้องกันโรคในประเทศได้อย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ
ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการเฝ้าระวังที่ผ่านมายังไม่พบสัญญาณผิดปกติใดๆในประเทศไทย ผู้ป่วยโรคปอดบวมทั้งหมดเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียทั่วไป ในปี 2556 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-4 กุมภาพันธ์ พบผู้ป่วยโรคปอดบวม 16,376 รายจาก 77 จังหวัด เสียชีวิต 28 ราย ซึ่งเป็นเรื่องที่พบได้ตามฤดูกาล ทั้งนี้ ในด้านระบบการดูแลผู้ป่วยโรคปอดบวมในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมและมีมาตรการที่เป็นมาตรฐานในการดูแลเฝ้าระวัง ป้องกันเชื้อไม่ให้มีการแพร่ระบาด มีห้องตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ทำงานเชื่อมโยงกับศูนย์ควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกาหรือซีดีซี และองค์การอนามัยโลก
สำหรับคนไทยที่จะเดินทางไปต่างประเทศสามารถเดินทางได้ตามปกติ และองค์การอนามัยโลกยังไม่แนะนำข้อห้ามในการเดินทางไปประเทศที่พบผู้ติดเชื้อ จึงไม่ต้องวิตกกังวลและขอให้ปฏิบัติรักษาสุขอนามัย โดยเฉพาะการล้างมือหลังสัมผัสสิ่งของต่างๆ ทุกครั้ง และหากมีอาการป่วย คือมีไข้สูง ไอ หายใจหอบ ให้รีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน
************************ 14 กุมภาพันธ์ 2556