“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 439 View
- อ่านต่อ
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้วัยรุ่นไทยจำนวนมากให้ความสำคัญกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันวาเลนไทน์หรือวันแห่งความรัก กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยปัญหาที่สำคัญ 2 เรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นแล้ว และกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต หากไม่เร่งป้องกันแก้ไข คือการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน และมีก่อนวัยอันควร สะท้อนจากปัญหาจริงที่ปรากฏขณะนี้ คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รวมทั้งการติดเชื้อเอชไอวี และปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ที่มากขึ้น สาเหตุเพราะขาดความรู้ความรู้ความเข้าใจหรือเข้าใจผิดในเรื่องของเพศสัมพันธ์กับการแสดงออกซึ่งความรักให้กัน และการเข้าไม่ถึงบริการ หรือถูกผู้ให้บริการและสังคมรอบข้างตีตราวัยรุ่นที่มีปัญหาทางด้านเพศ
นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในกลุ่มวัยรุ่นอย่างครบสูตร ในปี 2556 นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดคลินิกให้บริการวัยรุ่นและเยาวชนหรือคลินิกวัยทีน ในโรงพยาบาลในสังกัดทุกระดับทุกอำเภอรวม 835 แห่ง จัดอบรมบุคลากรให้บริการที่เป็นมิตร เป็นเพื่อนที่ไว้ใจได้ และรักษาความเป็นส่วนตัวอย่างดี บริการสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องรอนาน ให้บริการปรึกษาวัยรุ่นได้ทุกเรื่อง ทั้งให้ความรู้ คำแนะนำ บริการส่งเสริมสุขภาพ การดูแลทางการแพทย์ทั้งเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย บริการยาเม็ดคุมกำเนิด และถุงยางอนามัย ส่งเสริมให้เยาวชนวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเข้ารับการตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวี หากพบติดเชื้อจะได้รับบริการที่เหมาะสม ปลอดภัย เป็นบริการฟรีทั้งหมด โดยวัยรุ่นสามารถเข้าไปใช้บริการโดยตรง สบายใจ ไม่ต้องยื่นบัตรผ่านแผนกผู้ป่วยนอกเหมือนผู้ป่วยทั่วไป
ทั้งนี้ คลินิกดังกล่าวจะเชื่อมโยงกับโรงเรียน ในปีนี้เตรียมขยายในพื้นที่กทม. 8 แห่ง และจะขยายให้ได้ 1,000 คลินิก 1,000 โรงเรียน ครูสามารถส่งนักเรียนที่มีความเสี่ยงหรือมีปัญหาไปที่คลินิกได้ จะทำให้เยาวชน วัยรุ่นในโรงเรียนทุกแห่งที่มีปัญหามีที่พึ่งที่ให้บริการได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่ปัญหาจะยุ่งยาก ซับซ้อน ยากต่อการแก้ไข ที่ผ่านมามีข้อมูลว่าวัยรุ่นที่มีปัญหามักจะไม่กล้าบอกพ่อแม่ จะปรึกษาเพื่อนแทน หรือร้านยา และอาจได้รับการชี้แนะทางออกที่ไม่ถูกต้อง บางรายเสียชีวิต ที่พบได้เนืองๆ คือการทำแท้ง และมีข้อมูลสำรวจแม่วัยรุ่นที่มีบุตรก่อนอายุ 18 ปี พบว่าร้อยละ 12 เคยคิดฆ่าตัวตายระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังคลอดจำนวน 1-2 ครั้ง
ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้วัยรุ่นและเยาวชนทั่วโลกเข้าไปข้องเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศในลักษณะต่างๆ มีจำนวนมากกว่าอดีต แนวโน้มการมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นเนื่องจากเข้าถึงเรื่องเพศง่ายขึ้น โดยเฉพาะทางอินเตอร์เน็ต เด็กใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตมากกว่าการอ่านหนังสือถึง 6 เท่า ทำให้ปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ในวัยเด็กเพิ่มขึ้น จึงต้องย้ำเตือนวัยรุ่นและสังคมให้ตระหนัก และทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ไขป้องกันอย่างจริงจัง
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า เครื่องมือป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์และการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่นหนองใน ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี ซี โรคเอดส์ ฝีมะม่วง โรคแผลริมอ่อน ที่ได้ผลที่สุดและมีราคาถูกที่สุดคือ ถุงยางอนามัย แต่อัตราการใช้ในเด็กวัยรุ่นยังค่อนข้างต่ำ ผลสำรวจในกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 2 ล่าสุดในปี 2554 พบนักเรียนชายและหญิงมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเมื่ออายุเฉลี่ย 12.25 ปี เร็วขึ้นกว่าปี 2550 เฉลี่ยอายุ 13.25 ปี ส่วนเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 5 ทั้งชายและหญิง ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเฉลี่ยเพียงร้อยละ 52 และใช้ทุกครั้งกับแฟนหรือคนรักต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ เฉลี่ยเพียงร้อยละ 25 จึงทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์หรือติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์สูง โดยสถิติพบว่าอัตราการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-19 ปี จากร้อยละ 17 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 19 ในปี 2553
และที่น่าเป็นห่วงพบว่าข้อมูลของคลินิกบริการที่เป็นมิตรกับวัยรุ่นในโรงพยาบาลต่างๆ 650 แห่งใน 43 จังหวัด ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลกล่าสุดในปี 2555 ซึ่งดำเนินร่วมระหว่างภาครัฐกับองค์เอกชนสาธารณประโยชน์หรือเอ็นจีโอ ได้ให้ความรู้เยาวชนในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จำนวน 1 ล้านกว่าราย และมีเยาวชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงได้รับการปรึกษา และแนะนำสนับสนุนให้ตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี รวม 37,610 คน ผลการตรวจพบติดเชื้อ 422 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 1 ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ส่งพบแพทย์และรับยาต้านไวรัสเอดส์ตามระบบการรักษา
สำหรับปัญหาวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี พบมีแนวโน้มการคลอดมากขึ้น ในปี 2554 จำนวน 29,321คน เฉลี่ยคลอดชั่วโมงละ 15 คน ในขณะที่ในปี 2548 มีคลอดรวม 113,048 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 13 คน โดยวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์หลังจากมีประจำเดือนเพียง 2 ปีแรก จะเสี่ยงทารกคลอดจะมีน้ำหนักตัวน้อยสูงกว่าหญิงทั่วไป โอกาสเสียชีวิตสูง ประการสำคัญ วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ช่วง 5 ปีแรกหลังมีประจำเดือน ร่างกายจะเตี้ยกว่าคนอื่น เพราะการหลั่งฮอร์โมนเพศมาก ทำให้ส่วนสร้างกระดูกปิดเร็ว กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าจะลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนี้ให้เหลือไม่เกิน 50 ต่อ 1,000 ประชากร เพื่อลดปัญหาสุขภาพทั้งแม่และเด็ก
********************************** 14 กุมภาพันธ์ 2556