รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล เร่งปฏิบัติการตามกลยุทธ์ส่งเสริมสุขภาพ เพื่อสร้างภูมิต้านทานโรคทางสังคมประชาชนทุกกลุ่มวัยตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา ร่วมกับ อสม.และท้องถิ่น เผยในปีนี้รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มเงินให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 20,000 ล้านบาทเพื่อดูแลกิจกรรมต่างๆ และเรื่องสุขภาพ มั่นใจจะสามารถลดปัญหาการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของประชาชนได้เป็นผลสำเร็จ

                   วันนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมและมอบนโยบายแก่ผู้แทนชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทยประมาณ 120 คน เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์หน่วยงานสาธารณสุขระดับอำเภอ และระดับตำบล โดยนายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า ใน ปี 2556 นี้ รัฐบาลโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่เพิ่มเงินให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นอีกประมาณ 20,000 ล้านบาท ให้เป็นสัดส่วนร้อยละ 50 เพื่อดูแลกิจกรรมต่างๆ ซึ่งรวมทั้งเรื่องสุขภาพด้วย โดยงบส่วนนี้จะไปเพิ่มในส่วนของเงินที่จะอุดหนุนกิจกรรมของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรืออสม. เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชน การดูแลช่วยเหลือกลุ่มผู้พิการ โดยให้มีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันในพื้นที่ ระหว่างหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลหรือรพ.สต. โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง มั่นใจงานจะประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน 
                  นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาสุขภาพที่สำคัญของรัฐบาล คือการสร้างภูมิต้านทานให้กับประชาชนทุกวัย เนื่องจากโรคที่กำลังคุกคามประเทศของเราขณะนี้ เป็นโรคจากพฤติกรรมทางสังคม   แตกต่างจากในอดีตซึ่งเป็นโรคติดเชื้อ ซึ่งเราสามารถควบคุมได้ดีพอสมควร และมีการฉีดวัคซีน ได้มอบนโยบายให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ซึ่งทั่วประเทศมีกว่า 9,000 แห่ง เพิ่มกลยุทธ์ในด้านการส่งเสริมสุขภาพประชาชนทุกกลุ่ม ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอสม. เพื่อให้มีภูมิต้านทานต่อโรคทางสังคม แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คืออายุ 0-6 ปี อายุ 6-18 ปี อายุ 18-59 ปี และ60 ปีขึ้นไป เนื่องจากจะเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น กลุ่มอายุ 0-6 ปี จะดูตั้งแต่การตั้งครรภ์ การฝากครรภ์ ที่ถูกต้องเพื่อให้เด็กที่เกิดออกมาเป็นเด็กมีคุณภาพ กลุ่มอายุ 6-18 ปี เตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่วัยทำงาน เข้าสู่สังคม เด็กวัยเหล่านี้เมื่อเข้าสู่สังคมจะมีพฤติกรรมและพบกับปัญหาความเสี่ยงต่างๆ จะต้องดูตั้งแต่เรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การลดพฤติกรรมความเสี่ยงต่างๆ เช่นการไม่สวมหมวกนิรภัยในกลุ่มที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ เป็นต้น  
                     ส่วนกลุ่มวัยทำงาน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศ จะต้องกระตุ้นและสร้างให้มีภูมิต้านโรคโดยเฉพาะพฤติกรรมต่างๆ ป้องกันโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งจะต้องมีระบบการตรวจค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยง เพื่อแก้ไขพฤติกรรมเสี่ยงป้องกันไม่ให้ป่วย ก็จะเป็นการประหยัดเงิน ยืดอายุการมีสุขภาพดีให้แก่ประชาชนได้ดียิ่งขึ้น สำหรับกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเน้นเรื่องการซ่อมแซม การฟื้นฟูสุขภาพ โดยกลยุทธ์เหล่านี้ต้องเริ่มต้นที่ระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นผู้ดูแลโดยร่วมมือกับท้องถิ่น
                นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่ออีกว่าอย่างไรก็ดี ในการทำงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพนั้น จะยังคงในเรื่องการให้บริการรักษาพยาบาลเบื้องต้นแก่ประชาชนที่เจ็บป่วย และมีระบบการส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาลระดับที่สูงขึ้น เนื่องจากเป็นสถานพยาบาลด่านแรกที่อยู่ใกล้ชุมชนที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนด้วย     
 ******************************** 13 กุมภาพันธ์ 2556


   
   


View 8    13/02/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ