“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 439 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หารือความร่วมมือเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเดนมาร์กประจำประเทศไทย ด้านเมดิคัลฮับ พิจารณาความเป็นไปได้ดึงชาวเดนมาร์กบินมารักษาในไทย และขอความร่วมมือช่วยแก้ปัญหาสุขภาพชายแดนไทย ลดภาระไทยอุ้มค่ารักษาต่างด้าวปีละ 250 ล้านบาท
บ่ายวันนี้ (29 มกราคม 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังให้การต้อนรับนายมิคาเอล เฮมนิตี้ วินเธอร์ ( H.E.Mr.Mikael Hemniti Winther) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเดนมาร์กประจำประเทศไทยและคณะ เข้าเยี่ยมคารวะและหารือความร่วมมือด้านสาธารณสุข ที่กระทรวงสาธารณสุข ว่า ท่านเอกอัครราชทูตเดนมาร์กได้มาหารือ 2 เรื่อง ประการแรกได้แก่ความร่วมมือเดิมระหว่างรัฐบาลเดนมาร์กกับกระทรวงสาธารณสุขที่ยังมีอยู่ และโครงการที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป เช่นโครงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันภาวะตาบอดจากเบาหวาน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 ระยะเวลา 2 ปี เริ่มตุลาคม 2552-ธันวาคม 2554 เพื่อให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ยากไร้ในถิ่นทุรกันดารของไทย ได้รับการผ่าตัดตาด้วยเลเซอร์ ป้องกันภาวะตาบอดจากโรคเบาหวานขึ้นตา หวังว่าจะมีโครงการนี้ต่อไป
ประเด็นที่ 2 คือเรื่องเงินกู้ของรัฐบาลเดนมาร์กเพื่อการลงทุนพัฒนาด้านสุขภาพ ซึ่งรัฐบาลเดนมาร์กดำเนินโครงการมาแล้ว 2 ครั้งคือดีเค 1 และดีเค 2 ( DK I และ DK II ) ซึ่งจบไปแล้ว หากกระทรวงสาธารณสุขไทย มีความจำเป็นหรือสนใจ ก็เสนอโครงการใหม่เป็นโครงการดีเค 3 ( DK III ) โดยกระทรวงสาธารณสุขไทยรับไว้พิจารณาก่อน และต้องขอดูรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆก่อน
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้พูดคุยในเรื่องนโยบายทิศทางการปรับปรุงกระทรวงสาธารณสุขไทย ได้เรียนท่านทูตเดนมาร์ก ว่าไทยได้เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน โดยแบ่งปันทรัพยากรกันใช้ และรวมกลุ่มกันทำงาน ประการสำคัญได้เสนอนโยบายของประเทศไทยที่สำคัญสองประเด็น ประเด็นแรก คือการทำให้นโยบายเมดิคับฮับ ของประเทศไทย ที่สนใจ 2 เรื่อง คือ อาจจะมีการฝึกอบรมแพทย์และพยาบาลระหว่าง2ประเทศ และการดำเนินการทางธุรกิจในภาคเอกชนเช่น ทางรัฐบาลเดนมาร์กอาจจะส่งคนไข้มารักษาในประเทศไทย เดนมาร์กเป็นกลุ่มในประเทศสแกนดิเนเวน มีข้อจำกัดของทางอียู จะส่งคนไข้ไปรักษาในกลุ่มประเทศอียูได้เท่านั้น ซึ่งไทยกำลังจะหาความเป็นไปได้ จะขอส่งคนไข้มารักษาในประเทศนอกอียูต่อไป
และประเด็นที่ 2 คือเรื่อง การเสนอให้มีองค์กรการกุศลนานาชาติ เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาสุขภาพทางด้านชายแดนไทย ซึ่งขณะนี้รัฐบาลไทยรับผิดชอบดูแลสุขภาพคนต่างด้าว ที่มารักษาที่ประเทศไทย มีค่าใช้จ่ายรักษาปีละประมาณ 250 ล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลเดนมาร์ก ช่วยเชิญชวนองค์กรการกุศลต่างๆที่ต้องการจะร่วมพัฒนากลุ่มประเทศต่างๆเหล่านี้ เพราะว่าอาจจะเกิดปัญหาทางสาธารณสุขในอนาคตได้ เมื่อเราเปิดพรมแดนคนเหล่านี้อาจจะข้ามมารักษาในไทยมากขึ้น
************************************** 29 มกราคม 2556