รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมชี้แจงผู้บริหารระดับสูง ปรับบทบาทภารกิจ โครงสร้างใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ดูแลระดับนโยบายสุขภาพแห่งชาติ และเป็นผู้ให้บริการ ใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความชัดเจนบทบาทกรมวิชาการเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์มาตรฐานต่างๆ โดยจะประชุมปฏิบัติการในต้นเดือนหน้านี้      

                   นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ให้สัมภาษณ์ว่า  วันนี้มีการประชุมชี้แจงผู้บริหาร เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุขให้ตอบสนองต่อการใช้ทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประกอบด้วย 2 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 การเป็นผู้ให้บริการ (provider) ซึ่งได้จัดเป็นเครือข่ายบริการ 12 เครือข่าย มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างคุ้มค่า ขณะนี้ได้วางแผนการเป็นผู้ให้บริการเรียบร้อยแล้ว และด้านที่ 2 คือการเป็นผู้ดูแลระดับนโยบายสุขภาพแห่งชาติ (National Health Authority) ดูแลกฎหมายต่างๆ เช่นอย. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมีบทบาทการควบคุมกฎระเบียบภายในต่างๆ เพื่อให้ทำงานราบรื่น ส่วนการด้านการดูแลทางด้านกฎหมาย กฎระเบียบ ได้ทำความเข้าใจผู้บริหารระดับสูง ทั้งอธิบดีกรม รองอธิบดี เพื่อให้มีส่วนร่วมในการจัดทำนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศ และปรับบทบาทการทำงานของแต่ละกรมวิชาการ ที่ต้องเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอกกระทรวง แยกให้ชัดเจนว่าเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลกฎเกณฑ์ต่างๆ ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ 

                 ทางด้านนายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า   ในเบื้องต้น ทิศทางการปรับบทบาทการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขตามโครงสร้างใหม่ ได้วางไว้ 11 บทบาท ได้แก่ 1.การกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์บนฐานความรู้ เป็นนโยบายการสร้างสุขภาพของประเทศ  2.การสร้างและจัดการความรู้สุขภาพ 3.การประเมินเทคโนโลยี เช่นเครื่องมือแพทย์ วัคซีน เพื่อตัดสินใจทางนโยบาย  4.การพัฒนากำหนดมาตรฐานกฎเกณฑ์ รวมทั้งการรับรองมาตรฐานบริการต่างๆ  เช่นห้องคลอด  ศูนย์เด็กเล็ก การฝากครรภ์ที่มีคุณภาพ  เป็นต้น 5.พัฒนาระบบกลไกการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพ และผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ  6.การพัฒนากลไกด้านกฎหมายเป็นเครื่องมือดูแลสุขภาพประชาชน 7.การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ 8.กำกับดูแลติดตามประเมินผลของภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชน เช่นติดตามกำกับคลินิกเถื่อน   9.การเงินการคลังด้านสุขภาพของประเทศ 10.การพัฒนาข้อมูลข่าวสารให้เป็นระบบเดียว และ 11.กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสุขภาพร่วมกับสภาวิชาชีพ สถาบันการผลิตบุคลากรต่างๆ รวมทั้งกำหนดมาตรการธำรงรักษากำลังคนและการกระจายที่เป็นธรรม   

                นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่ออีกว่า  ในการปฏิรูปโครงสร้างบทบาทภารกิจใหม่ครั้งนี้  กระทรวงสาธารณสุขจะระดมสมองผู้บริหารระดับสูงใน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง อธิบดี รองอธิบดี และผู้อำนวยการ สำนักต่างๆ  โดยจะตั้งคณะกรรมการ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก  เช่นสถาบันศศิน   มาเป็นที่ปรึกษา ส่วนการปรับบทบาทด้านการจัดบริการและการดูแลหน่วยบริการในเครือข่ายบริการ 12 เครือข่ายให้ตอบสนองกับความต้องการของประชาชนและแก้ปัญหาในพื้นที่ จะมีการตั้งคณะกรรมการบริหารระดับเขต ซึ่งจะเรียกว่าเขตสุขภาพ โดยจะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารระดับสูงในต้นเดือนกุมภาพันธ์

               ในปี 2556 นี้ ได้ปรับทิศทางการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข ให้ตั้งต้นด้วยการกำหนดเป้าหมายในการดูแลสุขภาพประชาชนตามกลุ่มวัย และกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ 66 ตัวชี้วัดและเน้นหนักเป็นพิเศษ 25 ตัวชี้วัด ไม่ใช่เน้นการทำงานตามโครงการเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้เกิดผลกับสุขภาพประชาชนโดยตรง  และได้จัดสรรงบประมาณดำเนินการประมาณ  950 ล้านบาท และงบประมาณเพื่อใช้สร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีกรวม  6,000 ล้านบาท  รวมงบการดูแลส่งเสริมป้องกันที่ สปสช.จัดสรรให้เขตพื้นที่และจังหวัด รวมเป็นก้อนเดียวกัน ร่วมกับงบประมาณดูแลด้านทันตกรรม 1,085 ล้านบาท งบกองทุนโรคเรื้อรัง 82 ล้านบาท ให้เครือข่ายบริการ  12 เครือข่าย งบส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 70 ลงไปที่อำเภอและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการติดตามผลการทำงานในทุกพื้นที่ และให้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์และกรมวิชาการ ประเมินผลในภาพรวมของกระทรวง 

******************************* 15 มกราคม 2556



   


View 16    15/01/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ