วันนี้ (14 มกราคม 2556)  เวลา 13.40 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี   เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดแพรคลุมป้ายโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา  อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส   โดยมี นายแพทย์ชลน่าน  ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่เฝ้ารับเสด็จ

               นายแพทย์ชลน่าน กราบบังคมทูลรายงานว่า โรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง และเป็น 1 ในโรงพยาบาล 10  แห่ง ที่กระทรวงสาธารณสุขจัดสร้างและพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ.2550  เนื่องจากอำเภอยี่งอ เป็นพื้นที่ทุรกันดาร เป็นอำเภอเดียวในจังหวัดนราธิวาส ที่ไม่มีโรงพยาบาลประจำในพื้นที่   ประชาชนต้องเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งอยู่ห่างประมาณ 20 กิโลเมตร  โดยก่อสร้างบนพื้นที่ 33 ไร่เศษ ซึ่งได้มาจากการบริจาคของประชาชนและจัดซื้อเพิ่มเติม แล้วเสร็จและเปิดให้บริการตั้งแต่ พ.ศ.2553 เป็นต้นมา  ได้เน้นระบบบริหารจัดการรูปแบบพิเศษให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารให้เป็นโรงพยาบาลของชุมชนอย่างแท้จริง และผสมผสานการดำเนินงานด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็นแบบอย่างชุมชน ส่งเสริมกิจกรรมจิตอาสาทั้งในและนอกโรงพยาบาล เป็นสถานบริการสุขภาพใกล้บ้านใกล้ใจ ดูแลประชาชนครบถ้วนทั้งกาย จิต และสังคมอย่างใกล้ชิด มีทีมแพทย์ออกให้บริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 6 แห่ง ดูแลถึงครอบครัว เน้นการให้บริการรักษาที่บ้านมากกว่าที่โรงพยาบาล และยังเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกและมีแพทย์คนแรกของประเทศไทยที่ทำการวินิจฉัยโรคชิคุนกุนยาหรือที่ประชาชนเรียกว่าไข้ปวดข้อยุงลาย เมื่อปี 2551 เป็นผลสำเร็จ

                  ปัจจุบัน โรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เปิดให้บริการรักษาพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง เปิดคลินิกแพทย์แผนไทยตรวจรักษาควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยดูแลประชากร 43,000 คน มีบุคลากรแพทย์เจ้าหน้าที่รวมทั้งหมด  89 คน   มีประชาชนในพื้นที่จิตอาสาร่วมช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการให้บริการดูแลอำนวยความสะดวกผู้ป่วยปีละ 4,000 คน เช่น จัดเตรียมอาหาร  ทำความสะอาดโรงพยาบาล    ผลการประเมินคุณภาพบริการในปี 2555 พบว่าประชาชนพึงพอใจบริการที่แผนกผู้ป่วยนอกสูงถึงร้อยละ 82  ผู้ป่วยในร้อยละ 80  โดยมีผู้ป่วยนอกปีละ 58,774 ราย และผู้ป่วยใน 3,212 ราย  ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยจากสถานการณ์ความไม่สงบ 111 ราย โรคที่พบในพื้นที่มากที่สุดได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง รองลงมาคือเบาหวาน ไข้เลือดออก อุจจาระร่วง ฟันผุ

                     ทั้งนี้ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือสงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส  กระทรวงสาธารณสุขได้ จัดแผนพัฒนาระบบบริการ  ได้กำหนดให้โรงพยาบาลศูนย์ยะลา เป็นโรงพยาบาลศูนย์ รองรับผู้ป่วยที่เกินขีดความสามารถ ก่อนส่งต่อไปโรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่  ส่วนในจังหวัดนราธิวาส  มีโรงพยาบาลทั่วไป 2 แห่ง ที่จะรองรับผู้ป่วยจากทั้ง 13 อำเภอ  ได้แก่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์     รองรับผู้ป่วยจากอำเภอเมือง ยี่งอ บาเจาะ รือเสาะ ระแงะ จะแนะ ศรีสาคร เจาะไอร้อง ตากใบ    และโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก รองรับผู้ป่วยจากอำเภอสุไหงโก-ลก สุไหงปาดี แว้ง และสุคิริน  โดยพัฒนาโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ให้เด่นเฉพาะทางในบางสาขาที่เป็นปัญหาของพื้นที่ เช่น การดูแลผู้ป่วยมารดาและทารก เป็นต้น ส่วนโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติฯ มีแผนพัฒนาให้เป็นจุดรับส่งต่อการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งเป็นภาวะการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ก่อนส่งรักษาในศูนย์เชี่ยวชาญโรคหัวใจ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตมากขึ้น   

***************************************   14 มกราคม 2556




   
   


View 17    14/01/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ