“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 439 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบของขวัญวันเด็ก โดยเปิดโรงพยาบาล 834 แห่งทั่วไทยเป็นโรงเรียนพ่อแม่ สอนทักษะร่วมกันดูแลลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงหลังคลอดอายุ 6 ขวบ และเติมชุดวัคซีนสุขภาพเพิ่มอีก 1 คิว ให้เด็กไทยในศตวรรษที่ 21 มีคุณสมบัติครบ 3 คิวคือฉลาดทั้งด้านสติปัญญา ด้านอารมณ์ มีจริยธรรม ปรับตัวได้ทุกสถานการณ์อย่างเหมาะสม และมีรูปร่างสูง ไม่อ้วน
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าเนื่องในวันเด็กปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนมอบของขวัญให้กับเด็กไทยทุกคน โดยในปีนี้ได้จัดโครงการโรงเรียนพ่อแม่ขึ้นในโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง 834 แห่งทั่วประเทศ เพื่อสอนทักษะแก่พ่อและแม่เด็ก ในเรื่องการดูแลลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนกระทั่งหลังคลอดอายุ 6 ขวบ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการบูรณาการวิชาการความรู้ระหว่างกรมอนามัยและกรมสุขภาพจิต เพื่อเสริมสร้างคุณภาพของเด็กไทย ให้เท่ากับสากล แข่งขันในระดับเวทีโลกได้
เนื่องจากโลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และประสบปัญหาใหม่ๆ ซึ่งในอดีตไม่เคยเกิดขึ้น บางปัญหามีความสลับซับซ้อน โลกของงานอาชีพหลายอาชีพในปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว โดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการสื่อสารที่เข้าถึงตัวบุคคลโดยตรง ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนดคุณสมบัติของเด็กไทยรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21 จะต้องมีต้นทุนอย่างน้อย 3 คิว (Q : Quotient) ได้แก่ 1. ไอคิว (IQ) หรือความฉลาดทางสติปัญญา 2. อีคิว (EQ) หรือความฉลาดทางอารมณ์ และ 3.เอ็มคิว (MQ : Moral Quotient) หรือความฉลาดทางจริยธรรม และศีลธรรม ซึ่งคิวที่ 3 นี้จะมีความสำคัญยิ่งขึ้นไปในอนาคต เพราะอิทธิพลของการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะทำแนวโน้มประชาชนจะอยู่ในโลกของตัวเองมากขึ้น การเป็นคนดีจะสามารถแยกแยะสิ่งชั่วดีได้ นอกจากนี้เด็กไทยจะต้องมีพัฒนาการคือมีความสูง และไม่อ้วนด้วย เพราะความอ้วนในเด็กคือสัญญาณอันตรายที่จะทำให้อายุขัยคนไทยในอนาคตสั้นลง จากโรคเรื้อรังที่มากับความอ้วนคุกคาม เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไตวาย มะเร็ง เป็นเรื่องที่สังคมไทย โดยเฉพาะฐานแรกของสังคมคือ ครอบครัวทั้ง 23 ล้านครัวเรือน ต้องช่วยกันอย่างจริงจัง
ด้าน นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โครงการโรงเรียนพ่อแม่นี้ จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่พ่อแม่ในการดูแลลูกอย่างมีคุณภาพ เป็นครอบครัวที่มีความอบอุ่น ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำหน้าที่ให้ความรู้แก่พ่อและแม่ เริ่มตั้งแต่ที่จุดฝากครรภ์ของโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ ตามความสมัครใจของพ่อแม่ ไม่มีการบังคับ จะสอนทั้งพ่อแม่มือใหม่และมือเก่า โดยต่อปีประเทศไทยมีหญิงตั้งครรภ์และคลอดประมาณ 7-8 แสนคน เฉลี่ยแล้วจะมีเด็กเกิดใหม่วันละ 2,000 คน ซึ่งขณะนี้ได้พัฒนาหลักสูตรการสอนเรื่องบทบาทของพ่อแม่เสร็จแล้ว โดยแบ่งเป็น 3 ระยะได้แก่ 1.ระยะตั้งครรภ์ จะเน้นให้ความรู้พ่อแม่ทั้งด้านการดูแลสุขภาพของแม่ในระยะตั้งครรภ์เช่น เรื่องอาหารการกิน การดูแลสุขภาพแม่และลูกในท้อง ส่งเสริมให้เห็นความสำคัญของพ่อในการอบรมเลี้ยงดูลูก 2.ระยะการพักฟื้นหลังคลอดในโรงพยาบาล ให้ความรู้ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในรายที่ไม่มีข้อห้ามครบ 100 เปอร์เซ็นต์ การดูแลสุขภาพแม่หลังคลอด การดูแลสุขภาพทารกแรกเกิด การส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการลูก โดยแม่ทุกรายจะได้รับการแจกหนังสือเล่มแรกเพื่อเป็นแนวทางกระตุ้นพัฒนาการตามวัย และค้นหาความผิดปกติได้เป็นการคุมกำเนิดเพื่อวางแผนครอบครัว
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า โรงเรียนพ่อแม่ระยะที่ 3 คือระยะการเลี้ยงดูเด็กที่บ้าน และเป็นช่วงที่พ่อแม่นำเด็กไปรับบริการที่คลินิกสุขภาพเด็กดีโดยเฉพาะช่วง 5 ขวบแรก ซึ่งถือเป็นระยะสำคัญของชีวิต เป็นวัยรากฐานของการพัฒนาความเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์แบบทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา โดยเฉพาะด้านสมอง ซึ่งเติบโตถึงร้อยละ 80 ของผู้ใหญ่ จึงเป็นวัยที่เหมาะสมที่สุดในการปูพื้นฐาน เพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาระหลักการสอนจะให้ความรู้ด้านการให้วัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคพื้นฐาน การส่งเสริมและประเมินการเจริญเติบโต พัฒนาการและโภชนาการตามวัย สร้างวินัยให้กับลูก วิธีการเลี้ยงลูกให้ฉลาดทางเชาว์ปัญญาและอารมณ์ และมีจริยธรรม
“การพัฒนาความฉลาดทางจริยธรรมให้เด็ก จะต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็กจึงจะได้ผล ต้องอาศัยปัจจัย 3 อย่างร่วมกันคือ 1.การสอนถ่ายทอดศีลธรรมจากผู้ใหญ่ให้เด็กโดยตรง 2.ให้ความรักแก่เด็ก และ 3.การฝึกวินัย ทั้ง 3 ประการนี้ หากเด็กได้รับการปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็กจะสามารถพัฒนาพื้นฐานขึ้นมาได้ และเอ็มคิวนี้จะฝังลึกลงไปในจิตใต้สำนึกของเด็ก และเมื่อได้รับการอบรมสั่งสอน การฟังธรรมหรือวิธีการอื่นๆ ก็จะกระตุ้นเอ็มคิวออกมา และส่งผลถึงพฤติกรรมการกระทำ แต่หากเด็กไม่มีเอ็มคิวอยู่ใต้จิตสำนึกดั้งเดิมแล้ว ไม่ว่าโตขึ้นจะได้รับการกระตุ้นอย่างไร ก็ไม่สามารถทำให้บุคคลนั้นกลายเป็นคนดีขึ้นมาได้มาก เหมือนคำโบราณของไทยที่ว่า สันดอนนั้นขุดได้ แต่สันดานนั้นขุดยาก” นายแพทย์ณรงค์กล่าว
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อไปว่า คุณแม่ที่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ หรือผู้ที่สนใจที่วางแผนว่าจะมีบุตร สามารถรับบริการได้ที่ศูนย์อนามัยเขต 1 – 12 และสถานบริการของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ และในปีต่อไปจะขยายโรงเรียนพ่อแม่ลงสู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการง่ายขึ้น
********************************** 11 มกราคม 2556