รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนาประสิทธิภาพระบบกู้ชีพฉุกเฉิน 1669 หลังพบ 7 วันเทศกาลปีใหม่ ประชาชนเรียกใช้หน่วยกู้ชีพเพียงร้อยละ 11 โดยจะอบรมมูลนิธิอาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัยทั่วประเทศและอบรมทีมกู้ชีพระดับตำบล ในโครงการ 1  ตำบล 1  กู้ชีพกู้ภัย ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และขึ้นทะเบียนเป็นเครือข่าย 1669 มั่นใจจะช่วยลดการเสียชีวิตและพิการหลังบาดเจ็บให้เป็นศูนย์

              วันนี้ (3 มกราคม 2556) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. นายแพทย์ชลน่าน  ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมแถลงข่าวผลการปฏิบัติงานป้องกันและลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 ในช่วง 7 วันของการณรงค์ ว่า  จากการประเมินผลในรอบ 7 วันในปีนี้พบว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตรวม 365 ราย เพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 29 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าประมาณร้อยละ 70 เสียชีวิตที่จุดเกิดเหตุ เสียชีวิตระหว่างนำส่งโรงพยาบาลร้อยละ 10 และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลร้อยละ 20 ซึ่งหากได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและถูกวิธี จะลดความสูญเสียลงได้ ขณะเดียวกันในกลุ่มผู้บาดเจ็บมากกว่าร้อยละ 50 นำส่งโดยมูลนิธิอาสาสมัคร และนำส่งโดยผู้ประสบเหตุหรือญาติร้อยละ 32 นำส่งโดยทีมหน่วยแพทย์กู้ชีพฉุกเฉินผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 1669 เพียงร้อยละ 11

          ในปี 2556 นี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจะพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อลดการเสียชีวิตหรือความพิการหลังบาดเจ็บให้เป็นศูนย์ โดยจะอบรมมูลนิธิอาสาสมัครกู้ภัยต่างๆ และขึ้นทะเบียนให้เป็นเครือข่ายของ 1669 ทุกพื้นที่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และจะร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยฝึกอบรมเจ้าหน้าที่กู้ชีพ ในโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งกู้ชีพกู้ภัย และสนับสนุนรถ เครื่องมืออุปกรณ์การช่วยชีวิตที่จำเป็น เพื่อให้เป็นทีมกู้ชีพชุดแรกที่เข้าไปให้การช่วยเหลือยังที่เกิดเหตุในถนนสายรองต่างๆ อย่างน้อยตำบลละ 1 ทีม มั่นใจว่าเมื่อระบบการแพทย์ฉุกเฉินอยู่ในมาตรฐานและเป็นเครือข่ายเดียวกัน จะช่วยให้ผู้บาดเจ็บได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง รวดเร็ว และทันท่วงที จะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้มากขึ้น

            นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งตลอด 7 วันที่ผ่านมา สาเหตุอันดับหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนมาจากการเมาสุรา เกือบร้อยละ 40 โดยผลการออกตรวจของทีมเฉพาะกิจ จากสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค จำนวน 4 ทีม ได้ออกตรวจทั้งหมด 731 ราย พบกระทำผิดและดำเนินคดี 108 ราย ความผิดมากอันดับ 1 คือการโฆษณาส่งเสริมการขายและขายโดยวิธีห้ามขาย เช่น ลด แลก แจก แถมรวม 76 ราย รองลงมาคือขายในสถานที่ต้องห้าม เช่น ปั๊มน้ำมัน สถานที่ราชการ ร้านขายยา 13 ราย ขายโดยไม่มีใบอนุญาต 10 ราย ขายให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี 5 ราย ขายผิดเวลาและขายบนไหล่ทางรวม 4 ราย  กระทรวงสาธารณสุขจะควบคุมการจำหน่ายให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดมากตลอดปี เพื่อลดปัญหาสังคมให้ได้มากที่สุด ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ห้ามประชาชนดื่มเหล้า แต่เมื่อดื่มแล้วจะต้องไม่ก่อปัญหาให้สังคม
 
*******************************  3 มกราคม 2556


   
   


View 15    03/01/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ