กระทรวงสาธารณสุข สรุปผลการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 รอบ 6 วัน ตรวจทั้งหมด 594 ราย พบผู้กระทำผิด 96 ราย และทำผิดซ้ำซาก โดยผิดฐานโฆษณามากอันดับ 1 รองลงมาคือ ขายในพื้นที่ต้องห้าม ขายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี    และพบมีการแบ่งเหล้าใส่ขวดกระทิงแดงขายเป็นกั๊กๆ บนริมทางหลวง  โดยให้เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีเป็นผู้ขาย

          นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผลการดำเนินการควบคุมการกระทำผิดพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551 ว่า ในรอบ 6 วันตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2555 วันที่ 1 มกราคม 2556 ได้ตรวจผู้ประกอบใน 4 ภาค ทั้งหมดรวม 594 ราย พบผู้กระทำผิด และดำเนินคดีทันทีรวม 96 ราย โดยความผิดอันดับ 1 ได้แก่ การโฆษณาสื่อสารการตลาด และส่งเสริมการขายเช่นลดแลกแจกแถม   ชิงโชคเป็นต้น รวม 65 ราย รองลงมาคือขายในพื้นที่ห้ามขายคือสถานที่ราชการ สถานีน้ำมันเชื้อเพลิง และสวนสาธารณะ 12 ราย   ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 5 ราย ขายในเวลาห้ามขาย 2 ราย และขายโดยไม่มีใบอนุญาต 10 ราย และขายบนทางหลวง 2 ราย เฉพาะวันที่ 1 มกราคม 2556 ตรวจทั้งสิ้น97ราย ดำเนินคดี   2  ราย
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อว่า เป็นที่น่าสังเกตุว่า ในการตรวจจับในเทศกาลปีใหม่นี้ มีการกระทำผิดโดยแบ่งเหล้าขาย โดยใส่ในขวดของเครื่องดื่มชูกำลัง ขายเป็นกั๊กๆ บนริมทางหลวง และให้เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีเป็นผู้ขาย ซึ่งมีความผิดเช่นกัน และเป็นเรื่องที่ไม่ควรปฏิบัติ เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเด็กอาจเข้าใจผิดว่า เหล้าเป็นเครื่องดื่มธรรมดาทั่วไป        
ทางด้านนายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการออกตรวจของเจ้าหน้าที่   ยังพบว่ามีการกระทำผิดซ้ำซาก   โดยที่จังหวัดเพชรบูรณ์  ในช่วงเช้าทีมที่ออกกตรวจในสายภาคอีสาน ได้ตรวจปั้มน้ำมันแห่งหนึ่ง   มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปั้ม   และได้ดำเนินคดีไปแล้ว   ต่อมาช่วงบ่ายทีมที่ออกตรวจภาคเหนือ ได้ตรวจซ้ำในปั้มเดียวกัน   ก็ยังพบการขายเช่นเดิม จึงได้ดำเนินคดีอีกครั้ง ซึ่งทางผู้ประกอบการรับว่าจะไม่ทำผิดอีกแล้ว เพราะทราบแล้วว่าทางเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้
 “แสดงถึงว่าการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สามารถดำเนินการด้วยการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจ หรือการควบคุมไม่สามารถทำได้เพียงการร้องขออ้อนวอนเพียงอย่างเดียว ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายและการบังคับใช้อย่างจริงจังควบคู่กันไปด้วย  เพราะเป็นเรื่องที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอยู่ ดังนั้นทางผู้ประกอบการเขาก็เฝ้าสังเกตและชั่งน้ำหนักว่าเจ้าหน้าที่จะเอาจริงแค่ไหน หรือคุ้มไหมที่จะกระทำผิดแล้วถูกดำเนินคดีแลกกับผลประโยชน์ที่ตนจะได้รับ นายแพทย์สมานกล่าว
                ****************************************   2 มกราคม 2556


   
   


View 9    02/01/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ