รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ตำรวจ สาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินฯ วิเคราะห์ต้นเหตุทั้งหมวกนิรภัย เข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย และการนั่งท้ายรถกระบะ  เพื่อบริหารจัดการเชิงนโยบาย เพิ่มการบังคับใช้กฏหมายให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้งประเมินประสิทธิภาพระบบกู้ชีพ ลดการตาย และพิการ และเตรียมเพิ่มมาตรการรองรับผู้ป่วยฉุกเฉินจากโรคประจำตัวกำเริบ ช่วงเทศกาลสงกรานต์

      นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานรณรงค์ป้องกัน แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจร ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่เป็น 1 ใน 15 พื้นที่นำร่องดำเนินการ บังคับใช้กฏหมายเข้มข้น 4 มาตรการคือ เมาไม่ขับ ขับรถเร็ว สวมหมวกนิรภัยและคาดเข็มขัดนิรภัย ร่วมกันระหว่างตำรวจ  บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ สสส. และกระทรวงสาธารณสุข

              นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานภาพรวมทั้งจังหวัดพบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ผลของการบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจังทำให้จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุลดลงอย่างชัดเจน โดยมีการตรวจจับพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว และไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง ตลอด 5 วัน ตรวจไปแล้ว  26,000 ราย ดำเนินคดี 4,000 ราย ครึ่งหนึ่งไม่สวมหมวกนิรภัย  ทำให้สถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตลดลง

            นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามสถิติการเรียกใช้สายด่วนกู้ชีพ 1669 ยังน้อยมากเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ร้อยละ 80 ส่งโดยญาติ คนรู้จัก ดังนั้นเพื่อรักษาชีวิตผู้บาดเจ็บให้ปลอดภัยมากขึ้น  ขอให้เรียกใช้บริการจากทีมกู้ชีพที่มีความรู้ ทักษะการช่วยเหลือชีวิตอย่างทันท่วงที  และขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขจะให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบกู้ชีพฉุกเฉิน รวมทั้งประเมินคุณภาพบริการของการกู้ชีพฉุกเฉินว่าสามารถรักษาชีวิตผู้บาดเจ็บ ลดความพิการได้มากน้อยเพียงใด 

           นอกจากนี้ ได้มอบนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยเฉพาะสาเหตุการเกิด ปัจจัยเสี่ยง ทั้งเรื่องเข็มขัดนิรภัย หมวกกันน็อค การนั่งท้ายรถกระบะ ถุงลมนิรภัย เพื่อนำมาบริหารจัดการเชิงนโยบาย ใช้เป็นมาตรการทางกฎหมาย เป็นนโยบายของปะเทศ ในการแก่ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาการเก็บข้อมูลยังไม่สมบูรณ์แบบ ซึ่งทำให้มาตการทางกฎหมาย และการทุ่มงบประมาณยังไม่ครอบคลุม เพื่อแก้ไขปัญหานี้

          นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงเทศกาลหยุดยาวฉลองปีใหม่ปีนี้ พบผู้ป่วยฉุกเฉินจากโรคประจำตัวกำเริบกระทันหัน เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน ความดันโลหิต หอบหืด ลมชัก เรียกใช้บริการทีมกู้ชีพ 1669 และเข้ารักษาตัวที่ห้องฉุกเฉิน มากถึงร้อยละ 60 ของผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งหมด มากกว่าอุบัติเหตุ บางแห่งมากถึงร้อยละ 70 ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะได้ปรับระบบบริการในเทศกาลสงกรานต์นี้ ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเปิดบริการตรวจสุขภาพผู้ที่มีโรคประจำตัวก่อนเดินทาง ให้คำแนะนำการดูแลการใช้ยา รวมทั้งจัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมประจำห้องฉุกเฉิน ควบคู่กับผู้เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุและศัลยกรรมอื่นๆ จะช่วยให้ประชาชนมั่นใจ ปลอดภัย ลดการสูญเสียชีวิตได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

*************************************************** 2 มกราคม 2556



   
   


View 16    02/01/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ