รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้โรงพยาบาลในพื้นที่แถบปริมณฑล 4 ภาค พร้อมรับมืออุบัติเหตุจาจรฉลองปีใหม่ ช่วงขากลับเข้ากทม.เต็มที่ ย้ำเตือนระวังหลับใน  ก่อนเดินทาง ผู้ขับรถต้องเตรียมสภาพ ให้พร้อม นอนพักให้เต็มที่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากมีสัญญาณของอาการง่วง ต้องจอดพัก อย่าฝืนขับขี่ง่วงแล้วขับอันตรายเท่ากับเมาแล้วขับ

วันนี้ (1 มกราคม 2556)นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พล.ต.ต.โกสินทร์ หินเธาว์ รองผู้บัญชาการตรวจสอบสวนกลาง พล.ต.ต.ปิยะ สอนตระกูล รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 และคณะตรวจเยี่ยมความพร้อมรับมืออุบัติเหตุจราจรช่วงขากลับ ที่จุดตรวจตำรวจทางหลวงวังน้อย กม.ที่ 72-73 อ.วังน้อยจ.พระนครศรีอยุธยา และเยี่ยมให้กำลังใจการทำงานของทีมแพทย์ พยาบาลเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา

        นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมมาตรการป้องกันอุบัติเหตุจราจรช่วงเทศกาลปีใหม่ปีนี้ ที่บูรณาการร่วมหลายหน่วยงาน ในรอบ 5 วันนี้เป็นที่น่าพอใจ ภาพรวมการเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต ลดลงกว่าปีที่ผ่านมา โดยที่จ.พระนครศรีอยุธยา เกิดอุบัติเหตุ 23 ครั้ง เสียชีวิต 4 ราย น้อยกว่าปีที่แล้ว 6 ราย ขณะนี้มีผู้บาดเจ็บนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลรวม 33 ราย ในจำนวนนี้อยู่ที่รพ.พระนครศรีอยุธยา 13 ราย อาการสาหัส อยู่ไอซียู 2 ราย เนื่องจากบาดเจ็บทางสมอง เพราะไม่ใส่หมวกนิรภัย ส่วนผลการปฏิบัติงานด้านการแพทย์พบว่าได้ตามมาตรฐาน สามารถออกปฏิบัติการไปถึงที่เกิดเหตุภายใน 10 นาทีหลังรับแจ้งเหตุได้สูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์  

เพื่อลดความสูญเสียให้มีน้อยที่สุด และให้ประชาชนเดินทางกลับถึงบ้านอย่างปลอดภัยหลังฉลองปีใหม่ได้สั่งการให้โรงพยาบาลในแถบปริมณฑลทั้ง 4 ภาค จัดเตรียมกำลังแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมรับอุบัติเหตุช่วงขากลับอย่างเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่จ.พระนครศรีอยุธยาได้ตั้งจุดเตือน 3 จุด ในเส้นทางหลัก เนื่องจากเป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งช่วงขากลับ จุดที่ 1.ถนนพหลโยธิน ช่วงกม.74 อ.หนองแค จุดที่ 2.ถนนสายเอเชีย ช่วงต่างระดับบางปะหันถึงอ.มหาราช และจุดที่ 3. ทางหลวง 340 สายตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี ช่วงอำเภอลาดบัวหลวง โดยมีรถของตำรวจทางหลวงเปิดสัญญาณไฟแจ้งเตือนให้ระมัดระวัง   

ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ นอกจากเมาสุรา ขับรถเร็ว แล้วอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือคนขับหลับใน ผลของการง่วงจะทำให้ประสาทสัมผัสทุกอย่างช้าลง สมองตื้อ ตัดสินใจผิดพลาด ใจลอยไม่มีสมาธิ การสั่งการของสมองไปยังกล้ามเนื้อช้าลง เมื่อเกิดเหตุการณ์ คับขันจึงแตะเบรกได้ช้ากว่าปกติ มีผลวิจัยจากต่างประเทศระบุว่าคนที่ง่วงแล้วขับไม่ต่างกับคนเมาแล้วขับเพราะพบว่าคนที่อดนอนติดต่อกัน 18 ชั่วโมง ประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายลดลงเท่ากับคนที่มีระดับแอลกอฮอล์ ในเลือด 50มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ โอกาสเกิดอุบัติเหตุมากกว่าคนที่ไม่ดื่ม 2 เท่าตัว และถ้านาน 24ชั่วโมงจะเท่ากับมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ความสามารถขับรถลดลง 15 เปอร์เซ็นต์ โอกาสเกิดอุบัติเหตุจะเพิ่มเป็น 6 เท่าตัว

สัญญาณเตือนของอาการง่วงขณะขับรถ มี 8 ประการดังนี้ 1.หาวบ่อยและหาวต่อเนื่อง 2.ใจลอยไม่มีสมาธิ 3.รู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิดกระวนกระวาย 4.จำไม่ได้ว่าขับรถผ่านอะไรมาเมื่อ 2-3กิโลเมตรที่ผ่านมา 5.รู้สึกหนักหนังตา ตาปรือ ลืมตาไม่ขึ้น มองเห็นภาพไม่ชัด 6.รู้สึกมึน หนักศีรษะ7.ขับรถส่ายไปมาหรือออกนอกเส้นทาง 8.มองข้ามสัญญาณไฟและป้ายจราจร  ดังนั้น ก่อนเดินทางต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อม นอนพักผ่อนให้เพียงพอ  7-9 ชั่วโมง หาเพื่อนร่วมทางพูดคุย ผลัดกันขับรถ หยุดพักรถทุกๆ 150 กิโลเมตร หรือทุก 2ชั่วโมง แม้ว่าจะยังไม่รู้สึกเหนื่อย หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ยาที่ทำให้ง่วงซึม  เมื่อรู้สึกง่วง ล้า อย่าฝืนขับ ให้เปลี่ยนคนขับ หรือแวะจอดรถในที่ปลอดภัยและงีบหลับประมาณ 15 นาที ก็จะช่วยได้ นายแพทย์ณรงค์กล่าว

มกราคม/1  ************************************************  1 มกราคม 2556

 

 

 

 



   
   


View 17    01/01/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ