วันนี้ (29 ธันวาคม 2555) นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงเทศกาลฉลองวันขึ้นปีใหม่ แต่ละครัวเรือนมักจะจัดงานเลี้ยงและมีการประดับตกแต่งด้วยหลอดไฟกระพริบสีต่างๆ และที่พบเห็นได้ทั่วไปคือ ใช้ปลั๊กไฟกระพริบหลายๆ อัน หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ประกอบอาหารฉลอง เช่น กระทะไฟฟ้า หม้อสุกี้ เสียบเต้ารับตัวเดียวกัน ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากไฟฟ้าช็อตหรือไฟดูด จากข้อมูลการบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกไฟฟ้าดูดของโรงพยาบาลเครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บระดับชาติ 33 แห่งทั่วประเทศ ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในรอบ 4 ปีตั้งแต่พ.ศ.2550-2554 พบว่าจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกไฟฟ้าดูดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  ในปี 2554 มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากไฟฟ้าดูด 1,173 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 120 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 10  ประมาณร้อยละ 80 เป็นชาย


            ผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกไฟฟ้าดูดมีตั้งแต่อายุ 1 ขวบถึง 90 ปี กลุ่มอายุที่มีการบาดเจ็บสูงสุดคือต่ำกว่า 25 ปีคิดเป็นร้อยละ 12 รองลงมาคืออายุ 25-29 ปีร้อยละ 11  อาชีพที่ได้รับบาดเจ็บสูงสุดคือผู้ใช้แรงงานร้อยละ 49  รองลงมาคือกลุ่มนักเรียนนักศึกษาร้อยละ 10 นอกจากนี้ ยังมีการบาดเจ็บที่เกิดจากการทำงานร้อยละ 36  วันที่เกิดเหตุมากที่สุดคือวันเสาร์ร้อยละ 16  รองลงมาคือวันศุกร์ร้อยละ 15  สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างพบว่า ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากไฟฟ้าดูดร้อยละ 4 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย ผู้ที่บาดเจ็บจากการถูกไฟฟ้าดูด ส่วนใหญ่จะมีอาการช็อก หมดสติ คิดเป็นร้อยละ 45 อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บมากที่สุดคือมือและข้อมือร้อยละ 35 รองลงมาคือศีรษะและคอร้อยละ 16  


             นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ในการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าดูด ขอให้หมั่นตรวจเช็คสภาพอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและสายไฟอย่างสม่ำเสมอ หากชำรุดต้องส่งซ่อมแซมหรือตามช่างไฟฟ้าทันที ไม่เสียบปลั๊กไฟหลายอันหรือใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิดในเต้ารับตัวเดียวกัน เพราะจะทำให้เต้ารับจ่ายกระแสไฟมากเกินไปและเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้  ไม่เดินสายไฟในบริเวณที่เปียกชื้น บ้านที่มีเด็กเล็กควรติดตั้งสายไฟให้สูงกว่าพื้นไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร หากอยู่ในระดับต่ำกว่านี้ให้ใช้ที่ครอบปลั๊กไฟ หรือเลือกใช้ปลั๊กที่มีช่องแบบหมุน เพื่อป้องกันเด็กเอานิ้วมือแหย่ปลั๊กไฟ ไม่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปียกน้ำ และห้ามจับเครื่องใช้ไฟฟ้าในขณะที่ตัวเปียกชื้น   


            ด้านนายแพทย์พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้พื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัดเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ดังนั้นหากมีน้ำท่วมในบ้านให้รีบตัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าทันที และงดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดในขณะน้ำท่วม หากเครื่องใช้ไฟฟ้าถูกน้ำท่วมควรงดใช้งานจนกว่าจะได้รับการตรวจสภาพก่อน ตรวจสอบสวิทซ์ไฟฟ้าว่ามีน้ำเข้าหรือฝนสาดหรือไม่ หากเปียกน้ำห้ามใช้งานหรือแตะต้อง และหากตัวเปียกหรือยืนอยู่บนพื้นที่เปียกชื้น อย่าแตะต้องสวิทซ์ไฟอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียบปลั๊กไว้อย่างเด็ดขาด


              ทั้งนี้ กรณีที่พบคนถูกไฟฟ้าดูด ผู้ที่จะเข้าไปช่วยเหลือจะต้องมีสติและไม่ประมาท ร่างกายของผู้ที่จะเข้าไปช่วยต้องแห้งสนิทและสวมรองเท้า ยืนในที่แห้ง ห้ามใช้มือจับหรือดึงร่างกายของผู้ถูกไฟดูดอย่างเด็ดขาด ต้องรีบสับคัตเอาท์หรือเต้าเสียบปลั๊กไฟ เพื่อตัดกระแสไฟฟ้าก่อนที่จะเข้าไปช่วยเหลือ หากไม่สามารถสับสะพานไฟได้ การช่วยเหลืออย่างถูกวิธีคือต้องไม่สัมผัสร่างกายผู้ที่ถูกไฟดูดโดยตรง ควรใช้ไม้หรืออุปกรณ์ที่เป็นฉนวนกันไฟฟ้าเช่น ยาง ไฟเบอร์ หรือพลาสติก เขี่ยสายไฟหรืออุปกรณ์ที่เป็นต้นเหตุออกจากร่างกายของผู้ถูกไฟดูด จากนั้นใช้ผ้าแห้งหรือเชือกแห้งคล้องร่างกายผู้ถูกไฟดูดแล้วดึงผู้ป่วยออกจากที่เกิดเหตุโดยเร็วที่สุด และให้การปฐมพยาบาล หากหยุดหายใจให้เป่าปากเพื่อช่วยหายใจ หากคลำชีพจรไม่ได้ให้นวดหัวใจ และรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หรือโทรขอความช่วยเหลือที่หน่วยแพทย์ฉุกเฉินโรงพยาบาล หมายเลข 1669

************************* 29  ธันวาคม 2555



   
   


View 16    29/12/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ