สาธารณสุขเตรียมพร้อมโรงพยาบาลรัฐ-เอกชน 1,500 แห่งทั่วประเทศ รับมืออุบัติเหตุจราจร-เจ็บป่วยฉุกเฉินช่วงปีใหม่ระหว่าง 27 ธันวาคม 2555 - 2 มกราคม 2556   ใกล้ที่ไหนเข้ารักษาได้ทันที ไม่ต้องควักกระเป๋าก่อน ระดมกำลังแพทย์ผ่าตัดทุกสาขา แพทย์อื่นๆ พยาบาล เจ้าหน้าที่ เต็มพิกัดกว่า 100,000 คน ประจำห้องฉุกเฉิน ผ่าตัด หอผู้ป่วย ไอซียู ตลอด 24 ชั่วโมง สำรองเตียง 7,243 เตียง จัดทีมแพทย์กู้ชีพพร้อมรถพยาบาลปฏิบัติการวันละ 4,915 คัน หวังช่วยทุกคนมีชีวิตรอดและปลอดภัย ประชาชนโทรแจ้งขอความช่วยเหลือได้ฟรีที่ 1669 

          วันนี้ (27 ธันวาคม 2555) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กทม. นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์พีรพล  สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าว “การเตรียมความพร้อมของกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่าย ในการรับมืออุบัติเหตุจราจรและเจ็บป่วยฉุกเฉินในเทศกาลปีใหม่ ช่วงการรณรงค์ “7 วันอันตราย” ระหว่าง 27 ธันวาคม 2555 – 2 มกราคม 2556

       นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า ช่วงวันหยุดติดต่อกันหลายวันในเทศกาลปีใหม่ 2556 นี้ ปริมาณการใช้รถใช้ถนนเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนเดินทางไปท่องเที่ยวหรือกลับภูมิลำเนา รัฐบาลมีความห่วงใย และปรารถนาให้ประชาชนทุกคนได้ฉลองเทศกาลอย่างมีความสุข โดยมีมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจร ทั้งการบังคับใช้กฎหมาย การรณรงค์กระตุ้นเตือนต่างๆ ในช่วงเทศกาลปีใหม่อย่างเต็มที่ ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2555 จนถึง 2 มกราคม 2556 เนื่องจากเทศกาลปีใหม่ 2555 ที่ผ่านมา แม้จำนวนอุบัติเหตุและการบาดเจ็บลดลง แต่การเสียชีวิตยังลดลงไม่มาก เพราะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมีความรุนแรง สาเหตุเกิดจากการขับรถเร็ว การไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และเมาแล้วขับ  ในปี 2556 นี้ ตั้งเป้าลดจำนวนอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของสถิติช่วงเทศกาลปีใหม่ 2555 กล่าวคือลดจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุไม่เกิน 2,939 ครั้ง ผู้เสียชีวิตมีไม่เกิน 320 ราย และผู้บาดเจ็บไม่เกิน 3,207 ราย

       ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ในปีนี้ได้จัดเตรียมความพร้อมเพื่อลดความรุนแรง  ลดอัตราตาย และความพิการของผู้บาดเจ็บ –ผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้มากที่สุด  โดยตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2555 -2 มกราคม 2556 ได้เตรียมความพร้อมโรงพยาบาล ทั้งในสังกัด และได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลสังกัดภาครัฐอื่นๆ เช่นกลาโหม ทบวงมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ รวมทั้งหมด 1,500 แห่ง  ให้เตรียมพร้อมหน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์รับแจ้งขอความช่วยเหลือ ระบบการดูแลรักษาในโรงพยาบาล และการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล หากประชาชนบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินอันตรายถึงแก่ชีวิต สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ทันที ไม่ต้องควักเงินจ่ายสำรองแต่อย่างใด ตามนโยบายฉุกเฉินมาตรฐานเดียวของรัฐบาล               

      ทั้งนี้ โรงพยาบาลทุกแห่ง ได้จัดเตรียมความพร้อม 2 ส่วนใหญ่  ประกอบด้วย 1.หน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินหรือหน่วยแพทย์กู้ชีพทุกระดับ ศูนย์สื่อสารรับแจ้งเหตุทุกเครือข่าย ทั้งทางโทรศัพท์และวิทยุสื่อสาร สายด่วนโทรแจ้งเหตุ 1669 โดยมีรถพยาบาลฉุกเฉินพร้อมเครื่องมือแพทย์ปฏิบัติการวันละ  4,915 คัน บางแห่งติดระบบจีพีเอสด้วย สามารถออกไปให้การดูแลช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในที่เกิดเหตุหลังรับแจ้งภายใน 10 นาที    ประชาชนโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์กู้ชีพได้ที่หมายเลข 1669 ตลอดเวลาฟรี       

   2.ศูนย์อุบัติเหตุฉุกเฉินระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ได้จัดเตรียมอัตรากำลังแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่อื่นๆ ประจำห้องฉุกเฉินหรืออีอาร์ (ER:Emergency Room) และประจำหอผู้ป่วยรวมจำนวนกว่า 100,000  คน พร้อมจัดศัลยแพทย์หรือแพทย์ผ่าตัดทุกสาขาประจำการประมาณ 1,500 คน ตลอด  24  ชั่วโมง  สำรองคลังเลือดทุกหมู่ อุปกรณ์การแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ สามารถทำการผ่าตัดได้ทันที  และสำรองเตียงรองรับอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นจากปกติอีกร้อยละ 10 รวมทั้งหมด 7,243 เตียง มีศูนย์ประสานการส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนักไปรักษาอย่างรวดเร็ว 94 แห่ง พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับเครือข่ายเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ชั้นสูง เช่น เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือซีทีสแกน (CT SCAN) จำนวน 310 เครื่อง และเครื่องตรวจอวัยวะด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) จำนวน 52 เครื่อง เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัย  ค้นหาความผิดปกติและรักษาได้อย่างรวดเร็ว  มุ่งหวังช่วยชีวิตของผู้เจ็บป่วยให้รอดชีวิตและปลอดภัยที่สุด

อย่างไรก็ดี ขอย้ำเตือนประชาชนที่พบเห็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร หากเป็นไปได้ไม่ควรเคลื่อนย้าย ผู้บาดเจ็บเอง เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตรายแทรกซ้อนได้ เช่น เกิดความพิการ โดยเฉพาะในผู้ที่บาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง กระดูกต้นคอ ซึ่งบางครั้งอาจไม่มีบาดแผลปรากฏให้เห็น จึงขอให้โทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ จะเกิดความปลอดภัยกับผู้บาดเจ็บมากขึ้น    

      นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  76 จังหวัดและกทม. ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจเตือนประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการ พ่อค้า แม่ค้าทุกจังหวัดทุกพื้นที่  ให้ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ที่ห้าม เช่น วัด โรงเรียน สวนสาธารณะ  ห้ามขายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามขายโดยไม่มีใบอนุญาตขายสุรา เป็นต้น รวมทั้งประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนถนนขณะขับขี่ หรือขณะโดยสารอยู่ในรถหรือบนรถ หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างไม่ละเว้น โดยได้เปิดสายด่วนรับแจ้งผู้กระทำผิดตลอด24 ชั่วโมง ทางหมายเลข 1422 และ 0-2590-3342 ผลการสำรวจการขายสุราในสถานที่และเวลาห้ามขาย วันที่ 31 ธันวาคม 2554 ใน 23 จังหวัด พบขายในปั๊มน้ำมันและสวนสาธารณะร้อยละ 8 

   ****************************     27 ธันวาคม 2555

 



   
   


View 21    27/12/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ