วันนี้ (26 ธันวาคม 2555)ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ   สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสาธารณสุขระหว่างประเทศ ว่า เรื่องหลักที่กระทรวงสาธารณสุขมองว่าจะเป็นปัญหาสำคัญเมื่อเปิดพรมแดนในประชาคมอาเซียนมี 2 เรื่องคือ 1.โรคอุบัติใหม่ต่างๆ ที่ประเทศไทยเคยคิดว่าหายไปหรือควบคุมได้เช่น คอตีบ มือเท้าปาก วัณโรค เอดส์ กามโรค และการตั้งครรภ์ในไทยและเพิ่มจำนวนประชากรในไทย หรือโรคใหม่ที่อุบัติขึ้นมา เนื่องจากแต่ละประเทศมีมาตรฐานด้านบริการสาธารณสุขที่ต่างกัน จึงได้เน้นให้เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ทั้งเชิงรับและเชิงรุก เชิงรับคือเตรียมบุคลากรต่างๆให้พร้อมเช่น การให้วัคซีน ส่วนเชิงรุกคือ สร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ตามพรมแดนต่างๆ 2.เรื่องคุณภาพอาหาร ยา สารเคมี เครื่องสำอางต่างๆ ที่จะเข้ามาในประเทศ จะต้องเตรียมพร้อมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในประเทศเช่น อาจจะมีการจัดตั้งศูนย์กำหนดคุณภาพมาตรฐานในการดูแลคุณภาพมาตรฐานของอาหาร และยา หรือเครื่องสำอาง เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้วคือ เรื่องการดูแลคุณภาพยาและอาหาร

                  นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า เมื่อมีการเปิดพรมแดนอาจจะมีประชาชนเดินทางเข้ามารับการรักษาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายแดน จะต้องปรับปรุงระบบบริการและระบบการเงิน ให้สามารถเข้าไปคิดค่ารักษาพยาบาลได้ตามความเหมาะสม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารูปแบบ อาจจะเป็นการทำประกันสุขภาพ แต่วิธีนี้อาจมีปัญหาว่าคนที่มีความเสี่ยงอยู่แล้วอาจจะมาซื้อประกันสุขภาพเพื่อต้องการเข้ามารักษามากขึ้น หรือหากเป็นการรักษาฟรี ก็อาจมีปัญหาว่าไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้ จนเป็นปัญหาการเงินของโรงพยาบาลที่รักษาตามมา โดยในการจัดทำประกันสุขภาพ  กระทรวงสาธารณสุขกำลังคิดหารูปแบบที่เหมาะสมอยู่ว่าควรเป็นรูปแบบใด คิดค่าหัวเท่าใดจึงจะคุ้มทุน และเป็นมาตรฐานในการดำเนินการของแต่ละโรงพยาบาล และคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม ควบคู่กันไปด้วย เพราะเมื่อคนข้ามมามากจำนวนภาระต่างๆก็ต้องเพิ่มมากขึ้น การซื้อประกันสุขภาพก็เป็นประโยชน์ในการควบคุมป้องกันโรคอีกทางหนึ่ง

     สำหรับกลยุทธ์ที่ไทยจะดำเนินการเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะมีหลายอย่างเช่น สร้างความเชื่อมั่นในด้านการเป็นผู้นำการแพทย์และสาธารณสุขในภูมิภาค สนับสนุนให้บริษัทประกันสุขภาพของไทยไปขายที่ต่างประเทศด้วยเช่น ที่ลาว กัมพูชา หากเข้ามาประเทศไทยแล้วเจ็บป่วย ก็สามารถรับการรักษาได้ทันที นอกจากนี้อาจจะมีการให้ซื้อประกันสุขภาพแบบเชิงท่องเที่ยว หากมาเที่ยวแล้วป่วยก็รักษาได้ไม่เป็นภาระของประเทศไทย เช่นเดียวกับที่คนไทยไปเที่ยวที่ยุโรป ที่ผ่านมาเราให้การดูแลรักษาต่างชาติเกือบฟรีมาตลอด แต่ในอนาคตจะหารูปแบบวิธีการเก็บเงินที่เหมาะสมและถูกต้อง อย่างน้อย 5 เปอร์เซ็นต์ก็ยังดี หรืออาจจะคิดค่าบริการเป็นรายครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาการเก็บค่ารักษามีข้อจำกัดทั้งด้านกฎหมาย ระเบียบ ประเภทแรงงานต่างด้าว เป็นต้น

              นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อไปว่า เมื่อมีการขายประกันสุขภาพให้ต่างชาติแล้ว กระทรวงสาธารณสุขจะให้มีหน่วยงานดูแลไม่ให้มีการเก็บเงินค่ารักษาสูงหรือแพงเกินเหตุ และมีกฎ ระเบียบต่างๆที่เป็นภาษาของประเทศที่จะซื้อประกันสุขภาพ และอาจเพิ่มช่องทางการขายประกันสุขภาพทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะตั้งคณะทำงานเชิงรุกเพื่อดำเนินงานเรื่องนี้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดพัฒนามาตรฐานอาหารฮาลาลส่งออกของไทย ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับอาเซียน ซึ่งจะเป็นโอกาสทางธุรกิจ เพราะประชากรครึ่งหนึ่งของอาเซียนเป็นชาวมุสลิม และบางประเทศเช่น บรูไน ก็อยากให้กระทรวงสาธารณสุขไทยเข้าไปช่วยพัฒนาด้านการแพทย์ของเขา เราก็มีหน่วยงานเข้าไปตั้งต้น และอาจมีโรงพยาบาลเอกชนเข้าไปลงทุนด้วย      

 ****** 26 ธันวาคม 2555 ****** 



   
   


View 24    26/12/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ